จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 10 : ช่วงเวลานั้น สำคัญไฉน? (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

หากเราลองคิดย้อนหลัง สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ แล้วเริ่มตระหนักว่า เรากำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นผู้ใหญ่ในไม่ช้า คำถามที่น่าสนใจก็คือ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer)? แล้วช่วงเวลาของเหตุการณ์ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ (Personality) หรือชีวิตทางสังคม (Social life) หรือไม่? แล้วมีผลกระทบ (Implications) ที่แตกต่างกันอย่างไร ระหว่างหนุ่มวัยรุ่นกับสาววัยรุ่น?

ในการวิจัยแบบระยะยาว (Longitudinal research) ณ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (California) แสดงผลว่า เด็กหนุ่มที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์ (Mature) เร็วกว่าเพื่อน (Early) จะได้เปรียบทางสังคม (Social advantages) นานัปการ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนที่บรรลุภาวะวัยรุ่นล่าช้ากว่าเพื่อน (Late)

การศึกษาหนึ่งติดตามผลในช่วงเวลา 6 ปี ของเด็กหนุ่ม 16 คนที่บรรลุภาวะวัยเจริยพันธุ์เร็วกว่าเพื่อน และเด็กหนุ่มอีก 16 คนที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์ล่าช้ากว่าเพื่อน พบว่า กลุ่มหลังจะมีความกระตือรือร้น (Eager) กังวล (Anxious) และแสวงหาสมาธิ (Attention-seeking) มากกว่ากลุ่มแรก

แต่ในสายตาของครูผู้สอน กลุ่มหลังมีความเป็น “ชายชาตรี” (Masculine) และเสน่ห์ของเรือนร่างที่ด้อยกว่ากลุ่มแรก กลุ่มที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเพื่อน มักจะมีสติ (Poised) และเชื่อมั่น (Confident) ในการเข้าสังคม โดยมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในด้านกีฬา (Athletic honors) และได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนนักเรียน

แม้ว่าการศึกษานี้ ใช้ตัวอย่างเพียง 32 ราย และสำรวจในรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น ทีมนักวิจัย ณ ที่อื่นๆ ก็พบว่า หนุ่มที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์ล่าช้ากว่าเพื่อน มีแนวโน้มที่จะรู้สึกด้อยกว่า (Inferior) ในการเข้าสังคม นอกจากนี้ กลุ่มนี้ยังมีความทะเยอทะยาน (Aspiration) ทางการศึกษาที่น้อยกว่า ดังนั้นจึงทำคะแนนสอบมาตรฐาน (Achievement test) ได้ต่ำกว่า กลุ่มที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเพื่อน

ทำไมกลุ่มแรกจึงได้เปรียบกว่า? เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะเขามีขนาดเรือนร่างที่แข็งแรงกว่า เอื้ออำนวยให้เขามีความสามารถทางกีฬาที่เหนือกว่า จึงทำให้เขาได้รับการยอมรับทางสังคม (Social recognition) จากผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงได้ดีกว่า

การมีรูปโฉมโนมพรรณของผู้ใหญ่ (Adult-like appearance) เร็วกว่าพื่อน ทำให้ผู้อื่นประเมินสมรรถนะของเขาไว้สูง เขาจึงได้รับสิทธิพิเศษ (Privilege) และความรับผิดชอบของผู้ที่อาวุโสกว่า อันที่จริง พ่อแม่ก็คาดหวังความทะเยอทะยานทางการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ที่สูงกว่า หนุ่มที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์ล่าช้ากว่าเพื่อน

หนุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกับพ่อแม่น้อยกว่า ในประเด็นเรื่องการยอมรับกำหนดเวลากลับบ้าน (Curfew) และสิทธิการคบเพื่อน ซึ่งจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อบรรยากาศสมานฉันท์ (Harmonious) ระหว่างพ่อแม่กับลูก อันส่งเสริมให้เขามีสติและความเชื่อมั่นในตนเอง แล้วยังผลให้เป็นที่นิยมชมชอบและยอมรับในเรื่องภาวะผู้นำในหมู่เพื่อนฝูง อีกด้วย

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning. 2. The Onset of Puberty - http://www.soc.hawaii.edu/leonj/409as98/yuen/famr499.html [2014, July 29]