จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 9 : พัฒนาการในวัยรุ่น (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

สาววัยรุ่นที่ “สุกงอม” ก่อน (Early maturing) จะพัฒนา “หน่อทรวงอก” (Breast bud) ณ อายุ 8 ขวบ เริ่มมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ณ อายุ 9.5 ขวบ และมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) ณ อายุ 10.5 ปี อาจมีพัฒนาการ “แตกเนื้อสาว” (Puberty development) ที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก่อนที่สาววัยรุ่นอื่นๆ ในชั้นเดียวกัน จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ

ความแตกต่างแต่ละบุคคลสำหรับหนุ่มวัยรุ่นก็เหมือนกัน หนุ่มวัยรุ่นบางคน “แตกเนื้อหนุ่ม” เมื่ออายุ 12.5 ปี และสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 13 ปี ในขณะที่หนุ่มวัยรุ่นอื่น จะเริ่มเจริญเติบโตช้ากว่า โดยยังไม่ “แตกเนื้อหนุ่ม” จนกระทั่งเวลาต่อมา การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จะสังเกตเห็นได้ชัดในชั้นเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (Middle school) ณ ช่วงเวลาที่เราจะพบเห็นรูปร่างหนุ่มหลายหลาก ตั้งแต่ตัวเล็กเท่าเด็ก จนถึงตัวโตเท่าผู้ใหญ่

ประมาณ 25 ปี มาแล้ว บรรดาสตรีในครอบครัวหนึ่งรู้สึกแปลกใจที่ สมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว เริ่มมีประจำเดือนเมื่อย่างเข้า 12 ปี ขณะที่อยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกัน สาววัยรุ่นดังกล่าว ค้นพบว่า ยายทวด (Great-grandmother) ของเธอมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี ยายของเธอเมื่ออายุ 14 ปี และแม่ของเธอเมีออายุ 13 ปี

เธออุทานด้วยคำพูดว่า “ตายจริง เพื่อนร่วมชั้นจำนวนมากของฉัน มีประจำเดือนกันแล้ว!” สิ่งที่สาววัยรุ่นผู้นี้พูดเป็นความจริง กล่าวคือนับวัน สาววัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะถึงวัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น ในปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ยายทวดของเธอเพิ่งเกิด อายุถัวเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกอยู่ระหว่าง 14 ปี กับ 15 ปี

เมื่อถึง ปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) สาววัยรุ่นส่วนมากมีประจำเดือนครั้งแรก เมื่ออายุระหว่าง 13.5 ปี กับ 14 ปี และเกณฑ์ปรกติ (Norm) เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวเลขดังกล่าวได้ตกลงถึง 12.5 ปี ในปัจจุบัน นิยามของคำว่า “วัยเจริญพันธ์แรกแย้ม” (Early puberty) เริ่มต้นที่อายุ 8 ขวบสำหรับเด็กสาว และ 9 ขวบ สำหรับเด็กหนุ่ม

แนวโน้มในสังคมที่พัฒนาแล้ว การมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วขึ้นกว่า เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ได้เริ่มอยู่ตัวแล้ว และกำลังเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน นอกจากนี้ วัยรุ่นในประเทศพัฒนาแล้ว ก็มีตัวสูงขึ้นและน้ำหนักมากขึ้นกว่าในศตวรรษที่ผ่านมา แล้วเราจะอธิบายแนวโน้มเหล่านี้ได้อย่างไร? คำตอบดูเหมือนจะอยู่ที่โภชนาการและวิวัฒนการทางการแพทย์

ทุกวันนี้ วัยรุ่นมีแนวโน้มมากกว่าพ่อแม่และปู่ยาตายายที่จะบรรลุถึงศักยภาพของการ “สุกงอม” และการเจริญเติบโต เพราะได้รับอาหารที่ดีกว่า และไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วยที่เคยชะลอการเจริญเติบโต (Growth retarding) ในอดีต แม้ในสังคมอเมริกันที่ค่อนข้างมั่งคั่ง (Affluent) วัยรุ่นที่มิได้รับอาหารเพียงพอ ก็จะถึงวัย “สุกงอม” ช้ากว่าผู้ที่ได้รับอาหารเพียงพอ

วัยรุ่นสาวที่ตัวสูงและน้ำหนักมากเกินไปเมื่อยังเป็นเด็ก มักบรรลุช่วง “สุกงอม” ก่อนเพื่อน ในขณะที่นักเต้นรำ นักกายกรรม (Gymnastic) และเด็กสาวอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมออกแรงทางกายอย่างสม่ำเสมอ อาจมีประจำเดือนครั้งแรกช้ากว่าเพื่อน หรือหมดประจำเดือน ทันทีที่มีประจำเดือนครั้งแรก

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Puberty - http://en.wikipedia.org/wiki/Puberty [2014, July 26].