จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 5 : วัยเจริญพันธุ์ (2)

ผลการวิจัยแสดงว่า ในหนุ่มวัยรุ่น การบรรลุวัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น อาจมีผลดีกว่าการถึงวัยเจริญพันธุ์ที่ช้าลง อาทิ การมีร่างกายที่ใหญ่ขึ้นและกำยำล่ำสัน จะทำให้เขาเล่นกีฬาได้ดีขึ้นและภาพลักษณ์ของนักกีฬามักสง่าผ่าเผย แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด และฝ่าฝืนกฎหมายเร็วกว่าหนุ่มวัยรุ่นที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์ช้ากว่า

ในสาววัยรุ่น การบรรลุวัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น มักได้ภาพลักษณ์ว่า เป็นยอดนิยมของสังคม แต่เป็นเพราะสาววัยรุ่นอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) มองเธอว่า เป็นพวกโตเกินวัย (Precocious) [หรือที่เรียกกันว่า “แก่แดด”] ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทะเลาะกับพ่อแม่ ออกจากโรงเรียนก่อนจบ (Drop-out) มีภาพลักษณ์ต่อร่างกายในเชิงลบ โกรธง่าย หรือซึมเศร้าไปเลย

การมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) ก่อนคนอื่น มิได้เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว แต่มีแนวโน้มที่จะตอกย้ำ (Accentuate) ปัญหาพฤติกรรมที่มีอยู่และความขัดแย้งในครอบครัว ในทางตรงข้าม สาววัยรุ่นที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าเพื่อน มักมีปัญหาวัยรุ่นในระยะแรก แต่เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่นแล้ว มักมีความสุขกว่า พึงพอใจกับรูปโฉมโนมพรรณของตนเองมากกว่า และเป็นที่นิยมกว่าเพื่อนร่วมชั้นที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเพื่อน

เมื่อผู้คนคิดถึงการเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น เขามักคิดถึงความเจริญเติบโตทางร่างกาย ผลกระทบของฮอร์โมนต่ออารมณ์ (Mood) และความสามารถในการมีเพศสัมพันธ์ (Sexuality) แต่สมองก็เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการด้วย การเชื่อมโยง (Connections) ระหว่างเซลล์สมองเพิ่มเติมและลดทอนนั้น เกิดขึ้นตลอดเวลา

นักวิจัยผู้หนึ่ง เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองในช่วงวัยรุ่นกับการจำลองแบบบ้านโดยที่โครงสร้างยังคงอยู่ แต่ได้รับการปรับแต่ง (Streamline) ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าของเปลือกสมอง (Pre-frontal cortex) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและวางแผนกะทันหัน (Impulse) และระบบการแตกแขนง (Limbic system) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวลอารมณ์ความรู้สึก (Emotional processing)

ความบกพร่องในกระบวนการจำลองแบบใหม่ (Re-modeling) ในวัยรุ่น อาจเกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นของโรคจิตเภท (Schizophrenia) และความผิดปรกติ (Disorder) อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง (Vulnerable)

ในปี พ.ศ. 2548 ศาลฎีกา (Supreme Court) ในสหรัฐอเมริกา สั่งห้ามการลงโทษเด็กวัยรุ่น (Juvenile) ด้วยการประหารชีวิตบนพื้นฐานของการวิจัยที่แสดงว่า วัยรุ่นมักก่อปัญหาเนื่องจากการไม่เจริญเต็มที่ของระบบประสาท (Neurological immaturity) ในสมอง นักวิจัยบางคน สรุปจากหลักฐานนี้ว่า วัยรุ่นจำนวนมากที่ก่ออาชญากรรม จึงสมควรได้รับโทษเบากว่าที่ควรจะเป็น

แหล่งข้อมูล

1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
2. Sexuality - http://en.wikipedia.org/wiki/Human_sexuality [2014, July 12].