จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 4 : วัยเจริญพันธุ์ (1)

ก่อนจะถึง “วัยเจริญพันธุ์” (Puberty) หนุ่มวัยรุ่นผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) และสาววัยรุ่นผลิตฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) ในระดับที่เท่าๆ กัน ณ วัยเจริญพันธุ์ ต่อมสมอง (Pituitary gland) เริ่มกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนในต่อมหมวกไต (Adrenal) และต่อมสืบพันธุ์ (Reproductive)

จากวัยเจริญพันธุ์เป็นต้นไป หนุ่มวัยรุ่นจะมีฮอร์โมนเพศชาย ในระดับที่สูงกว่าฮอร์โมนเพศชายของสาววัยรุ่น และในทางกลับกัน สาววัยรุ่นก็จะมีระดับฮอร์โมนเพศหญิง ในระดับที่สูงกว่าของฮอร์โมนเพศหญิงของหนุ่มวัยรุ่น ในหนุ่มวัยรุ่น ต่อมสืบพันธุ์คือลูกอัณฑะ (Testicles) ซึ่งผลิตน้ำอสุจิ (Sperm) ในสาววัยรุ่น ต่อมสืบพันธุ์คือรังไข่ (Ovaries) ซึ่งจะปลดปล่อย ไข่ออกมา [ให้น้ำอสุจิผสมพันธุ์]

ในช่วงเจริญพันธุ์ อวัยวะเพศจะเจริญเติบโตเต็มที่ (Mature) ทั้งหนุ่มวัยรุ่น และสาววัยรุ่นก็จะสามารถสืบพันธุ์ได้ ในสาววัยรุ่น การขยายตัวของหน้าอก (Breast) และการมีประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) คือสัญญาณของความพร้อมทางเพศ (Sexual maturity) ในเหนุ่มวัยรุ่น สัญญาณความพร้อมทางเพศ คือการหลั่งน้ำอสุจิตอนกลางคืน (Nocturnal emission) ระหว่างนอนหลับ [หรือที่เรียกกันว่า “ฝันเปียก”] และการเจริญเติบโตของลูกอัณฑะ ถุงอัณฑะ (Scrotum) และองคชาต (Penis)

ฮอร์โมนยังเป็นสาเหตุของลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ทางเพศในระดับรอง (Secondary) อันได้แก่เสียงทุ้มแหลมขึ้น (Deepened voice) การงอกของขนที่ใบหน้าและหน้าอกในหนุ่มวัยรุ่น และขนบริเวณหัวหน่าว (Pubic hair) ทั้งในหนุ่มวัยรุ่นและในสาววัยรุ่น [ส่วนลักษณะเฉพาะทางเพศในระดับหลัก (Primary) ได้แก่อวัยวะเพศในระบบสืบพันธุ์] จุดเริ่มต้น (Onset) ของวัยเจริญพันธุ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งทางด้านพันธุกรรม (Genetic) และสภาพแวดล้อม (Environmental)

ตัวอย่างเช่น การมีประจำเดือนครั้งแรกขึ้นอยู่กับระดับสำคัญ (Critical) ของไขมันในร่างกายของสาววัยรุ่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรง (Sustain) การตั้งครรภ์ (Pregnancy) ไขมันในร่างกายดังกล่าว ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่สัมพันธ์กับการเจริญพันธุ์

การเพิ่มขึ้นของไขมันในร่างกายของสาววัยรุ่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจช่วยอธิบายว่า ทำไมอายุถัวเฉลี่ยของการเจริญพันธุ์ได้ลดลงในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในปัจจุบันอายุถัวเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรก เกิดขึ้น ณ 12 ปี กับ 8 เดือน ในสาววัยรุ่นผิวขาว และ 2 - 3 เดือนเร็วขึ้นในสาววัยรุ่นผิวดำ ในสหรัฐอเมริกา

วัยรุ่นแต่ละคนแตกต่างกันมากในจุดเริ่มต้น และช่วงเวลาเจริญพันธุ์ สาววัยรุ่นที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนหรือหลังเพื่อนร่วมชั้น ส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ของวัยรุ่น ที่แตกต่างจากถัวเฉลี่ยของวัยรุ่นส่วนใหญ่ สภาวะดังกล่าว อาจสร้างความรู้สึก “แปลกแยก” (Alienation) และซึมเศร้า (Depression) และภาพลักษณ์ของร่างกายที่ผิดปรกติ (Body-image disorder) ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปรกติในการกินอาหาร (Eating disorder)

แหล่งข้อมูล

1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
2. Hormone - http://en.wikipedia.org/wiki/Hormone [2014, July 8].