จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 3 : วัยรุ่นวุ่นวาย (2)

การวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ปัญหา 3 ประเภทที่พบบ่อยในบรรดา “วัยรุ่น” (Adolescence) มากกว่า “วัยผู้ใหญ่” (Adulthood) ได้แก่ (1) ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับพ่อแม่ (2) ความว้าวุ่นของอารมณ์ (Mood swing) และความรู้สึกซึมเศร้า (Depression) และ (3) อัตราที่สูงกว่าของพฤติกรรมที่บุ่มบ่าม (Reckless) ละเมิดข้อตกลง และเสี่ยงภัย

ในสังคมตะวันตก ถือว่าปัญหาดังล่าวเป็นส่วนหนึ่ง [ในทางลบ] ของการเจริญเติบโต [ที่จะผ่านพ้นไปตามกาลเวลา] แม้ว่าการทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อแม่ เป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดสำหรับวัยรุ่น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากอำนาจตัดสินใจของพ่อแม่แต่ฝ่ายเดียว ไปยังความสัมพันธ์ตัดสินใจร่วมกันแบบผู้ใหญ่ [ที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว]

การละเมิดข้อตกลงมักเกิดขึ้นเพราะวัยรุ่นกำลังพัฒนามาตรฐานและค่านิยม (Value) ของตนเอง โดยทดลองวิถีชีวิต (Life style) การปฏิบัติ (Action) และทัศนคติ (Attitude) ตามเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) เมื่อแตกต่างจากมาตรฐานและค่านิยมของพ่อแม่ เพื่อนกลายเป็นบุคลสำคัญเพราะเป็นตัวแทนของค่านิยมและวิถีชีวิตของชั่วอายุคนรุ่นใหม่

วัยรุ่นยึดถือชั่วอายุรุ่นใหม่เป็นอัตลักษณ์ (Identity) ของตน ซึ่งจะแบ่งปัน (Share) ประสบการณ์ร่วมกันไปจนบรรลุวุฒิภาวะ ผู้ใหญ่หลายคนรายงานว่า การไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ในสมัยเป็นวัยรุ่น สร้างความทุกข์ทรมาณใจให้มากกว่าการถูกพ่อแม่ลงโทษเสียอีก

วัยรุ่นที่รู้สึกว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยว ซึมเศร้า กังวล หรือโกรธเคือง มีแนวโน้มที่จะ “ออกอาการ” ดังกล่าว ในวิถีทางที่มีลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ของเพศตนเอง สาววัยรุ่นมักเก็บความรู้สึกดังกล่าวไว้ภายใน (Internal) ผ่านการ “ถอนตัว” (Withdraw) ออกจากสังคม หรือพัฒนาความผิดปรกติในการกิน (Eating disorder)

เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง หนุ่มวัยรุ่นมักแสดงความรู้สึกปัญหาอารมณ์อย่างเปิดเผย (External) ให้เห็นผ่านพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคม (Anti-social) และการกระทำที่ก้าวร้าว (Aggression) อันที่จริง ความก้าวร้าวในวัยรุ่นนั้นยังอาจได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก อาทิ การได้พบเห็น (Exposure) ความรุนแรงผ่านสื่อ (Media violence) ครั้งแล้วครั้งเล่า

ในการทดลองภาคสนาม (Field experiment) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในหนุ่มวัยรุ่นชาวเบลเยี่ยม ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับชมภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตธรรมดาทุกๆ คืนก่อนเข้านอน กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับชมภาพยนตร์ที่สะท้อนความรุนแรงทุกๆ คืน ก่อนเข้านอนเช่นกัน โดยก่อนเริ่มทดลองได้มีการวัดและบันทึกระดับความรุนแรงปรกติ (Baseline) ทางกายและวาจาของทั้งสองกลุ่ม

ผลการวิจัยพบว่า ระดับความรุนแรงทางกายและวาจาได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในวัยรุ่นกลุ่มที่ได้ชมภาพยนตร์ที่มีฉากความรุนแรงในท้องเรื่องหลายฉาก ซึ่งค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในพฤติกรรมของผู้ชม การค้นพบนี้สอดคล้องกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) แต่เป็นเรื่องของเด็กเล็กกับอิทธิพลความก้าวร้าวจากการชมโทรทัศน์

แหล่งข้อมูล

1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
2. Shaffer, David & Katherine Kipp (2007). Developmental Psychology : Childhood and Adolescent (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth