จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 2 : วัยรุ่นวุ่นวาย (1)

นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmentalist) หลายคน ให้คำนิยามของ “วัยรุ่น” (Adolescence) ว่า เป็นช่วงอายุ 12 ปีถึง 20 ปี โดยถือเอาการสิ้นสุดความเป็นวัยรุ่น ณ จุดที่เริ่มทำงาน [เพื่อหาเลี้ยงชีพ] และเป็นอิสระจากความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ (Sanction) ของพ่อแม่โดยสิ้นเชิง

แต่ก็ยังมีอีกคำนิยามหนึ่งของ “วัยรุ่น” ว่า เป็นช่วงพัฒนาการระหว่างวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) ซึ่งเป็นช่วงอายุของคนที่เริ่มมีความสามารถในการสืบพันธุ์ (Sexual reproduction) จนถึงภาวะผู้ใหญ่ (Adulthood) ในบางวัฒนธรรม ช่วงเวลาระหว่างวัยเจริญพันธุ์กับภาวะผู้ใหญ่ ห่างกันเพียง 2 - 3 เดือน

เด็กชายหรือเด็กหญิงที่มีความพร้อมทางเพศสัมพันธ์ (Sexually mature) ได้รับการคาดหวังให้แต่งงาน และทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม สังคมสมัยใหม่ที่พัฒนาแล้ว ถือว่าวัยรุ่นยังไม่มีความพร้อมทางอารมณ์ (Emotionally mature) เพียงพอที่จะ (1) ได้สิทธิ (2) ต้องรับผิดชอบ และ (3) สวมบทบาทของผู้ใหญ่

สื่อมวลชนชอบเสนอข่าวเกรียวกราว (Sensational) เกี่ยวกับวัยรุ่นที่โกรธง่าย อยู่ในอารมณ์ที่ปั่นป่วน กลัดกลุ้ม (Anguish) รู้สึกเปล่าเปลี่ยว เกลียดพ่อแม่ และปราศจากประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ที่ดีพอ แต่ภาพลักษณ์ (Image) ของวัยรุ่นนี้ สะท้อนความเป็นจริงแค่ไหน? เป็นคำถามที่น่าใจมาก

อันที่จริง ในสหรัฐอเมริกา อัตราอาชญากรรมในบรรดาวัยรุ่น ได้ลดลงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536 สำหรับการประเมินคุณค่าในตนเองนั้น มีการศึกษาวิเคราะห์รวมย้อนหลังครั้งใหญ่ (Meta-analysis) 2 ครั้ง ของวัยรุ่นเกือบ 150,000 คน พบว่า การประเมินคุณค่าในตนเองมิได้ลดลงเลย ไม่ว่าในหนุ่มหรือสาววัยรุ่น

หนังสือยอดนิยมเคยเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงมีการประเมินคุณค่าในตนเองที่ต่ำกว่าผู้ชาย เริ่มตั้งแต่วัยรุ่น แต่การศึกษาวัยรุ่นอเมริกัน ดังกล่าวข้างต้นพบว่า ความแตกต่างนั้นมีเพียงเล็กน้อยเอง ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง พบว่า มีเพียงวัยรุ่นส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็น “เจ้าปัญหา” โกรธง่าย และไม่มีความสุข

ในการวิจัยดังกล่าวยังพบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว มีจุดมุ่งหมายในชีวิต (Sense of purpose) มีความเชื่อมั่นในตนเอง คบเพื่อนที่ดี และมีทักษะที่จะรับมือกับปัญหา มีความวุ่นวายและอมทุกข์บ้างแต่ไม่มาก ความรู้สึกต่อต้าน (Rebellion) ของวัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องของทัศนคติชั่วอายุคน (Generation) และความปรกติ (Norm) ของวัฒนธรรม

คำว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” (Generation gap) อาจเกิดจากความรู้สึกที่วัยรุ่นท้าทายอำนาจ (Authority) ผู้ใหญ่ มากกว่าเป็นเรื่องของพัฒนาการในวัยรุ่น การวิจัยยังพบว่า ส่วนมากแล้ววัยรุ่นรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแม่ โดยมองพ่อแม่เป็นมิตร (Allies) มากกว่าเป็นศัตรู (Adversaries)

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
2. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.