จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 1 : อารัมภบท

“วัยรุ่น” (Adolescence) เป็นจุดสิ้นสุดของร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก แต่เป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการไปสู่ “วัยผู้ใหญ่” (Adulthood) การเปลี่ยนแปลงจากเด็กไปยังผู้ใหญ่นี้ เต็มไปด้วยความท้าทาย ความตื่นเต้น และความกังวล (Anxiety) สำหรับตัววัยรุ่นเอง และพ่อแม่ของวัยรุ่น

อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ คือการเข้าสู่ “วัยเจริญพันธุ์” (Puberty) ซึ่งเป็นช่วงที่น่าสนใจ น่าพิศวง (Wondrous) และมีศักยภาพที่จะทำให้เครียดจัด (Stressful) ได้ด้วย

วัยเจริญพันธุ์ หมายถึงช่วงของพัฒนาการระหว่างอายุ 12 ปี ถึง 18 ปี [บางแหล่งข้อมูล ระบุว่า ระหว่างอายุ 9 ปี ถึง 19 ปี] เมื่อวัยรุ่นดังกล่าวประสบการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิด “ลักษณะเฉพาะทางเพศในระดับรอง” (Secondary sexual characteristics) และบรรลุความพร้อมทางเพศของร่างกาย (Sexual maturity) [ที่จะสืบพันธุ์]

เมื่อวัยเจริญพันธุ์กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในโครงสร้างและการทำงาน (Function) ของร่างกาย วัยรุ่นจะประสบการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิด บุคลิกภาพ (Personality) และพฤติกรรมทางสังคม

ในสหรัฐอเมริกา วัยรุ่นประมาณหลายสิบล้านคนกำลังมองหาคำตอบของคำถามที่สำคัญมากและเป็น “ประเด็นร้อน” (Burning) ว่า “เอาล่ะ ฉันมีความพร้อมทางเพศของร่างกาย แล้วฉันควรทำอะไร?”

ตัวอย่างเช่น ผลการสำรวจสาววัยรุ่นที่รายงานปัญหาที่เธอเผชิญอยู่อันดับต้นๆ คือการมีเพศสัมพันธ์ (Sex) และการตั้งครรภ์ (Pregnancy) ส่วนหนึ่งของปัญหาที่วัยรุ่นต้องตัดสินใจในประเด็นว่า “ควรจะพฤติตนทางเพศอย่าไร?” หรือ “ควรครองตนในวัยรุ่นอย่างไร?” ก็คือ การได้รับคำตอบที่ขัดแย้งกัน

แม้ว่าวัยเจริญพันธุ์ จะเตรียมความพร้อมให้ร่างกายวัยรุ่นสำหรับพฤติกรรมทางเพศ แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเด็กสาว) รายงานว่า ยังไม่พร้อมทั้งทางอารมณ์ [ความมั่นคงในอารมณ์] หรือทางจิตใจในการรับมือกับความต้องการและความรู้สึกทางเพศที่รุนแรง

ในปัจจุบัน นักจิตวิทยาเชื่อว่า วัยรุ่นไม่จำเป็นต้องเป็น “วัยปั่นป่วน” (Turmoil) ที่สะท้อนภาพในสื่อต่างๆ แต่เป็นวัยที่พัฒนาจิตสำนึกของอัตลักษณ์ (Identity) ดำรงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามกับครอบครัว และหลีกเลี่ยงภาวะผิดปรกติของอารมณ์ (Emotional disorder) หลังจากผ่านพ้นวัยรุ่นแล้ว หนุ่มและสาววัยรุ่นก็พร้อมที่จะเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ต่อไป

ความกังวลและจุดมุ่งหมายของแต่ละบุคคล จะผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ โดยที่วัยรุ่น จะเป็นวัยที่มักกังวลเรื่องภาพลักษณ์ (Image) ทางร่างกายของตนเอง ในขณะที่วัยผู้ใหญ่จะเป็นวัยที่สร้างความสัมพันธ์อันยาวนาน และค้นหางานดีที่เหมาะสมทำเป็นอาชีพ

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
2. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.