จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - บทนำ

ถ้าคุณติดตามอ่านข่าวเป็นประจำ คุณจะทราบเรื่องราวมากมายของวีรชนและความกล้าหาญ ฆาตกรรมและการประทุษร้าย ความสำเร็จหรือความล้มเหลวส่วนบุคคล และประเด็นถกเถียงต่างๆ นานาที่สั่นสะเทือนความรู้สึกไปทั่ว แล้วคุณอาจสงสัยว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ “จิตวิทยา (Psychology) ในชีวิตประจำวัน” ของคอลัมน์นี้เล่า?

คนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมโยงคำว่า “จิตวิทยา” กับความผิดปรกติ (Disorders) ของจิตใจและอารมณ์ ปัญหาส่วนบุคคล และจิตบำบัด (Psycho-therapy) แต่ “นักจิตวิทยา” (Psychologist) ศึกษาทุกแง่มุม (Spectrum) ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม หรือความโหดร้ายของการกระทำของคน ตามที่คุณอ่านพบ [หรือได้ยินได้ชม] ในข่าวทุกวี่วัน

ถ้าคุณต้องการจะเรียนรู้ในเรื่อง “จิตวิทยา” จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือข่าว จากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต แต่ “จิตวิทยา” มิได้ครอบคลุมเพียงพฤติกรรมที่เป็นข่าว (Newsworthy) เท่านั้น แต่ “นักจิตวิทยา” ยังสนใจในเรื่องราวของคนธรรมดาๆ ที่เรียนรู้ แก้ปัญหา มองเห็น (Perceive) รู้สึก และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ [หรือไม่ได้] ฯลฯ

นิยามของ “จิตวิทยา” คือ การศึกษาอย่างเป็นระบบโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในเรื่องพฤติกรรม (Behavior) และกระบวนการทางจิตใจ (Mental process) คำว่า “พฤติกรรม” หมายถึงการกระทำหรือสนองตอบ ที่สังเกตได้ (Observable) ในคน อาทิ การกิน การพูด การหัวเราะ การวิ่ง การอ่าน และการนอน ส่วน “กระบวนการทางจิตใจ” หมายถึง ปฏิบัติการที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง อาทิ การคิด จินตนาการ การเรียนรู้ และการฝัน

แม้นิยามของ “จิตวิทยา” ยังเป็นที่ถกเถียงกันในบรรดา “นักจิตวิทยา” แต่ต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกัน 4 ประการ กล่าวคือ (1) การพรรณา (Description) หลากหลายวิธีของพฤติกรรม (2) การอธิบาย (Explanation) ถึงสาเหตุของพฤติกรรม (3) การพยากรณ์ (Prediction) พฤติกรรมในบางสถานการณ์ และ (4) การควบคุม (Control) พฤติกรรมเฉพาะอย่าง

ถ้าคุณต้องการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Insight) ถึงพฤติกรรมของตัวคุณเอง คุณกำลังอ่านคอลัมน์ที่เหมาะสมแล้ว ผมขอเชิญชวน ให้คุณก้าวเข้ามาในโลกของ “จิตวิทยา” สาขาวิชาที่กล้า “ท้าพิสูจน์” ให้คุณมาสำรวจหัวข้อที่ซับซ้อนที่สุดในโลก โดยผมจะแบ่งเป็น 4 ภาค กล่าวคือ (1) จิตวิทยาเด็ก (2) จิตวิทยาวัยรุ่น (3) จิตวิทยาผู้ใหญ่ และ (4) จิตวิทยาผู้สูงอายุ

ในภาคแรก มีทั้งหมด 84 ตอน ได้นำเสนอไปแล้วในเว็บไซต์ www.taamkru.com นี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2013 ถึง 26 มิถุนายน 2013 เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ ครู และนักการศึกษาเด็กปฐมวัย (Early childhood) ส่วนในภาคที่ 2 ถึง ภาคที่ 4 จะปรากฏในเว็บไซต์ www.haamor.com (ซึ่งเป็นเว็บไซต์สุขภาพ [ทั้งกายและใจ] ตามการแพทย์แผนปัจจุบัน ในเครือข่ายของเรา) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
2. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.