จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 85 : ขนาดของสมอง (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

นักวิจัยคิดว่า สมองของผู้หญิงไม่เพียงแต่ถูกย่นย่อ (Scaled down) ให้เล็กลงกว่าสมองของผู้ชาย แต่เซลล์ประสาท (Neuron) ในสมองของผู้หญิงยังถูกอัดแน่น (Densely packed) [เหมือนปลากระป๋อง] สรุปแล้ว การวิจัยรายงานสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่เป็นบวก ระหว่างขนาดของสมองกับเชาว์ปัญญา (Intelligence)

สหสัมพันธ์ แสดง (Indicate) ถึงการมีอยู่ (Existence) ของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เหตุการณ์ แต่ไม่ค้นหาสาเหตุ (Cause) และผลกระทบ (Effect) ตัวอย่างเช่น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้น (Stimulating environment) อาจส่งเสริมการเจริญเติบโตของสมอง และส่งผลให้คะแนนเชาว์ปัญญา (Intelligence quotient : IQ) ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สหสัมพันธ์ที่เป็นบวก ระหว่างขนาดของสมองกับเชาว์ปัญญา เป็นสิ่งที่น่าสนใจทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่อาจประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ (Practical application) ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับสมองว่า อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อสมองถูกผ่าครึ่งเป็น 2 ซีก (Hemisphere)

ตั้งแต่อายุ 6 ขวบเป็นต้นมา วิคตอเรีย (Victoria) เป็นลมชัก (Epileptic seizure) ครั้งแล้วครั่งเล่า ในช่วงอาการชัก เธอจะหมดสติ (Unconsciousness) หกล้มไปนอนที่พื้น กล้ามเนื้อของเธอจะกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้ (Jerk uncontrollably) แต่เธอไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย และจดจำประสบการณ์ดังกล่าวไม่ได้เลย เธอได้รับยาคลายกล้ามเนื้อ (Anti-convulsant) เพื่อช่วยป้องกันอาการชัก ซึ่งก็ประทังมาได้โดยตลอด

แต่เมื่อวิคตอเรียมีอายุได้ 18 ปี อาการชักของเธอ หวนกลับคืนมาโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ทวีความรุนแรง (Intensity) ยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้เธอขวัญหนีดีฝ่อ (Dismay) เมื่อยาคลายกล้ามเนื้อที่เคยใช้ไม่มีประสิทธิผลอีกต่อไป ลมชักยังคงดำเนินต่อไปอีกเกือบ 10 ปี จนกระทั่งเธอมีอายุได้ 27 ปี เธอต้องตัดสินใจว่า จะอยู่กับอนาคตของอาการชักที่ควบคุมไม่ได้ ต่อไปอีกไหม?

ถ้าไม่ โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการบรรเทาความหวาดกลัว (Frightening) จากอาการชักที่ควบคุมไม่ได้ คือการเข้ารับการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูงของผลข้างเคียง (Side effect) เพราะศัลยแพทย์ทางประสาท (Neuro-surgeon) ต้องผ่าแยก (Sever) ส่วนสำคัญที่เชื่อม (Major connection) ระหว่างซีกซ้ายกับซีกขวาของสมอง ผลลัพธ์คือสมองที่ถูกผ่าเป็น 2 ซีก

นอกจากวิตอเรียแล้ว ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกการเข้ารับการผ่าตัดแยกสมอง (Split-brain surgery) หลังจากที่พบว่า ยาคลายกล้ามเนื้อ ไม่สามารถที่จะช่วยป้องกันอาการชักที่ควบคุมไม่ได้ อีกต่อไป แม้จะมีความไม่แน่นอนสูงในเวลานั้นต่อผลข้างเคียงที่จะได้รับก็ตาม

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Brain size - https://en.wikipedia.org/wiki/Brain_size [2016, November 19].