จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 78 : ระบบประสาทอิสระ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ส่วน “สลาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา (Parasympathetic division) เป็นส่วนหนึ่งระบบประสาทอิสระ (Autonomous nervous system) ที่ลดสิ่งเร้าทางสรีรวิทยา และช่วยนำร่างกายกลับคืนสู่งความสงบ หรือสภาวะที่ผ่อนคลาย และยังกระตุ้นการย่อยอาหาร (Digestion) อีกด้วย เมื่อส่วน “สลาย” ดังกล่าวถูกกระตุ้น การสนองตอบทางสรีรวิทยา จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ลูกตาหดเข้า (Constricted pupils) ปากชื้นด้วยน้ำลาย (Salivation) ไม่มีภาวะขนลุก (Goose bumps) ฝ่ามือแห้ง ช่องปอด (Passage) ตีบตัน อัตราการเต้นหัวใจลดลง การจ่ายโลหิต (Blood supply) สูงสุดไปยังอวัยวะภายใน [ความดันโลหิตจะลดลง] ต่อมหมวกไต (Adrenal glands) ลดกิจกรรม ระบบย่อยอาหารได้รับการกระตุ้น (Simulated digestion) และการทำงานของเพศ (Sexual function) ถูกเร้า (Aroused) การสนองตอบเหล่านี้ ส่งผลให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะที่ผ่อนคลาย

ในการรับมือกับความเครียด (Stress) มีวิธีการ (Technique) หลากหลายที่ช่วยผ่อนคลาย อาทิ การสนองตอบต่อการผ่อนคลาย นานารูปแบบของการทำสมาธิ (Meditation) และการสะท้อนกลับทางชีวภาพ (Bio-feedback) [ด้วยการใช้เครื่องมือวัดค่าการทำงานของร่างกาย นำมาประมวลผล แล้วสะท้อนผลที่ได้กลับสู่ผู้ที่ถูกวัดผล อาทิ การเต้นของหัวใจ การหายใจ และการนำไฟฟ้าของผิวหนังที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก] ซึ่งช่วยเพิ่มกิจกรรมของส่วน “สลาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา กล่าวคือ ลดสิ่งเร้าต่อร่างกาย และช่วยสยบ (Calm down) ประสบการณ์ที่ตึงเครียด (Stressful)

ปัญหาหนึ่งของนักศึกษา คือความเครียดจากการเรียนหรือเหตุการณ์ในชีวิต เนื่องจากเป็นสภาวะที่อาจเป็นอันตราย (Potentially harmful) ต่อร่างกายที่ตึงเครียด หรือถูกเร้า ระบบประสาทอิสระจึงพยายามรักษาระดับสิ่งเร้าต่อร่างกายให้เหมาะสม (Optimum) เรียกว่า “สภาวะสมดุล” (Homeostasis) ซึ่งหมายความว่า ส่วน “ขยาย” และส่วน “สลาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา ทำงานร่วมกันในการรักษาร่างกายที่ถูกเร้าให้อยู่ระดับที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น “สภาวะสมดุล” ของร่างกายอาจถูกกระทบ (Upset) จากความเครียดของการสอบไล่ (Final examination) หรือความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับคู่รัก ซึ่งมักส่งผลให้เกิดสิ่งเร้าทางสรีรวิทยาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดปัญหาทางกายภาพมากมาย อาทิ ปวดศีรษะ ปวดท้อง กล้ามเนื้อเกร็ง (Tight muscle) หรืออ่อนเปลี้ยเพลียแรง (Fatigue)

กลุ่มอาการ (Symptoms) ทางร่างกายเหล่านี้ เรียกว่า “กายเหตุจิต” (Psycho-somatic) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด (Pain) นอกจากการกระตุ้น (Trigger) ระบบประสาทอิสระแล้ว ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ยังเกี่ยวข้องกับการควบคุม (Regulate) ระบบฮอร์โมน (Hormone) ที่ค่อนข้างซับซ้อนอีกด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Autonomic nervous system - https://en.wikipedia.org/wiki/Autonomic_nervous_system [2016, October 8].