จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 77 : ระบบประสาทอิสระ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เราอาจไม่รู้ว่าอะไรควบคุม (Regulate) การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ การหลั่ง (Secretion) ฮอร์โมน หรืออุณหภูมิของร่างกาย โดยเราอาจไม่กังวลในเรื่องการทำงานวิกฤต (Vital functions) เหล่านี้ เพราะมันมักถูกควบคุม โดยระบบประสาทที่แยกต่างหาก เรียกว่า “ระบบประสาทอิสระ” (Autonomous nervous system) ซึ่งถูกควบคุมอีกทอดหนึ่ง โดยศูนย์กลางใหญ่ (Master control center) ที่ชื่อ “ไฮโปธาลามัส” (Hypothalamus)

ระบบประสาทอิสระ ซึ่งควบคุมการสนองตอบทางสรีรวิทยา (Physiological responses) แยกเป็น 2 ส่วน (Division) กล่าวคือส่วน “ขยาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา (Sympathetic) กับส่วน “สลาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา (Parasympathetic) ส่วนแรกจะถูกระตุ้น (Activated) เมื่อเกิดเหตุการณ์ตึงเครียด ส่วนหลังจะช่วยให้เราผ่อนคลาย (Relax) หลังจากเหตุการณ์แรก

หากเราไปเดินป่าฝ่าดง (Nature hike) และพบเห็นงูทันทีทันใด เปลือกสมอง (Cortex) ของเราจะไปกระตุ้นไฮโปธาลามัส ซึ่งจะกระตุ้น (Trigger) ส่วน “ขยาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยาของระบประสาทอิสระอีกทอดหนึ่ง การถูกกระตุ้นทางกายภาพ (Physical stimulus) ที่คุกคาม (Threatening) หรือท้าทาย (Challenging) ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในกรณีที่พบงูฉับพลัน แต่อาจถูกกระตุ้นทางจิต (Psychological stimulus) อาทิ ความคิดที่ต้องพูดต่อหน้าสาธารณชน (Public speech) เมื่อใดที่ถูกกระตุ้น ส่วน “ขยาย” ดังกล่าว จะเพิ่มสิ่งเร้า (Arousal) ทางสรีรวิทยาของร่างกาย ดังต่อไปนี้

ลูกตาที่ถ่างออก (Dilated pupils) ปากที่แห้งผาก ขนลุก (Goose bumps) เหงื่อออกที่ฝ่ามือ (Sweaty palm) ช่องปอด (Passage) ที่ถ่างออก อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น การจ่ายโลหิต (Blood supply) สูงสุดไปยังกล้ามเนื้อ [ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น] ต่อมหมวกไต (Adrenal glands) ที่เพิ่มกิจกรรม ภาวะอาหารไม่ย่อย (Inhibited digestion) และการบรรลุจุดสุดยอด (Climax) ในเพศสัมพันธ์

ทั้งหมดนี้นำร่างกายไปสู่สภาวะการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่สูงขึ้น (Heightened) เรียกว่า “สู้หรือหนี” (Fight or flight) อันมีสาเหตุจากการกระตุ้น (Activation) ของส่วน “ขยาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา ซึ่งช่วยให้ร่างกายสามารถรับมือ (Cope) กับสถานการณ์ที่คุกคาม แล้วอยู่รอด (Survive) ทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาบ้างแล้ว

หลังจากที่เราได้รับการกระตุ้น (Arouse) ทางสรีรวิทยา [จากการพบเห็นงูอย่างกะทันหัน ฯลฯ] มักจะใช้เวลาสักพักหนึ่ง ก่อนที่ร่างกายของเราจะกลับคืนสู่ความสงบ กระบวนการลดสิ่งเร้าทางสรีรวิทยา และร่างกายสงบลง เกิดจากระบบประสาทไฮโปธาลามัส ซึ่งกระตุ้นส่วน “สลาย” การสนองตอบทางสรีรวิทยา อีกทอดหนึ่ง

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Autonomic nervous system - https://en.wikipedia.org/wiki/Autonomic_nervous_system [2016, October 1].