จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 76 : สมองส่วนลึก (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

นักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ถูกทำลาย จะประสบความลำบากในการจำได้ (Recognizing) ในสิ่งที่แสดงออก (Expression) ทางใบหน้าส่วนบุคคล ในกรณีของสัตว์ที่ถูกตัดส่วนอะมิกดะลาออก จะไม่เรียนรู้ความกลัวต่อสถานการณ์อันตราย บทบาทของส่วนอะมิกดะลาคือ การผนวก (Attach) ความรู้สึกทางอารมณ์ เข้ากับนานาเหตุการณ์หรือสถานการณ์ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับอันตราย การตื่นตระหนก (Panic) ความกลัว หรือความกังวล (Anxiety)

โครงสร้างของระบบลิมบิค (Limbic) มีลักษณะเหมือนคอมพิวเตอร์ที่ถูกย่นย่อให้เล็กลง (Miniature) ซึ่งรวบรวมและประมวลข้อมูลจากความรู้สึก (Sense) เรียกว่า “ธาลามัส” (Thalamus) อันเกี่ยวข้องกับการรับข้อมูลประสาทสัมผัส (Sensory information) และประมวลข้อมูลขั้นต้น (Initial processing) แล้วส่งต่อ (Relay) ข้อมูลประสาทสัมผัสไปยังอาณาบริเวณของเปลือกสมอง (Cortex)

ในกรณีที่ ธาลามัส ไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติ (Malfunction) และชะลอการประมวลข้อมูลการได้ยิน (Auditory information) จะส่งผลให้เกิดความลำบากในการเรียนรู้ที่จะอ่าน อันเป็นสัญญาณ (Sign) หนึ่งของความบกพร่องในการอ่าน (Dyslexia) ส่วนโครงสร้างสุดท้ายของระบบลิมบิค คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)

ฮิปโปแคมปัส เป็นโครงสร้างโค้ง (Curved structure) ที่อยู่ในสมองกลีบขมับ และเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา (Saving) หลากหลายชนิดของความทรงจำชั่วแล่น (Fleeting memories) ไว้ในคลังถาวร (Permanent storage) ในส่วนต่างๆ ของสมอง เหมือนการกดปุ่ม “Save” ในคอมพิวเตอร์ เพื่อเก็บรักษาข้อมูลในคลังเพื่อใช้ในระยะยาว

ตัวอย่างเช่น คนที่ฮิปโปแคมปัสถูกทำลาย จะประสบความลำบากในการจดจำสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง สถานที่ ใบหน้าหรือการสนทนา เพราะเหตุการณ์ใหม่เหล่านี้ ไม่สามารถถูกเก็บรักษาในคลังถาวรได้ ความรู้สึกทางอารมณ์ขั้นพื้นฐาน ที่ถูกกระตุ้นโดยระบบลิมบิค (อาทิ ความโกรธ ความเดือดดาล [Rage] ความกลัว และความตื่นตระหนก) นำไปสู่โอกาสทำร้ายตนเอง (Self-injury) หรือทำร้ายผู้อื่น

นักวิจัยเชื่อมั่นว่า วิวัฒนาการใหม่ๆ (Evolutionarily newer) ของสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิด การตัดสินใจ และการวางแผน จะควบคุม (Regulate) แรงผลักดันอันทรงพลัง (Powerful urge) ของระบบลิมบิค นอกจากนี้ โครงสร้างเฉพาะ (Particular) หนึ่งในระบบลิมบิค คือไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบประสาทอิสระ (Autonomic nervous system)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Limbic system - https://en.wikipedia.org/wiki/Limbic_system [2016, September 24].