จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 74 : สมองกลีบท้ายทอย (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ใน “ภาวะเสียการรับรู้จากการมองเห็น” (Vision agnosia) คนเราจะไม่สามารถจำบางวัตถุ มนุษย์ หรือสี ที่ได้ผ่านการมองเห็นแล้ว และไม่สามารถแม้กระทั่งอธิบายชิ้นส่วนของบางสิ่งเร้าที่มองเห็น (Visual stimulus) กล่าวคือเขาไม่สามารถมองเห็น (Perceive) หรือวาดภาพ (Image) ที่สมบูรณ์ (Complete) และจำได้ (Recognizable)

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะเสียการรับรู้จากการมองเห็น จะเห็นชิ้นส่วนของแต่ละวัตถุ อาทิ ขาของม้า แต่เนื่องจากเขตสัมพันธ์กับการมองเห็น (Visual association area) ถูกทำลาย เขาจะมีความลำบากในการรวบรวม (Combine) ชิ้นส่วน ให้เป็นภาพม้าทั้งตัว หรืออาจส่งผลให้เห็นเพียงครึ่งหนึ่งของโลกแห่งความเป็นจริง

บุคคลที่เขตสัมพันธ์กับการมองเห็นถูกทำลาย มักอยู่ในสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) และสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) และมักอยู่ในสมองซีกขวา (Right hemisphere) เขาจะเผชิญกับปัญหาที่ค่อนข้างแปลกเรียกว่า “กลุ่มอาการเพิกเฉย” (Neglect syndrome)

กลุ่มอาการดังกล่าว หมายถึงความล้มเหลวของผู้ป่วยที่จะมองเห็นวัตถุ หรือส่วนของร่างกาย ที่อยู่ตรงข้ามกับด้านที่สมองถูกทำลาย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจแต่งตัวดีเพียงด้านหนึ่งของร่างกาย และปฏิเสธว่าส่วนของร่างกายที่อยู่ตรงกันข้ามเป็นของเขาด้วย หรืออาจวาดภาพนาฬิกาเพียงครึ่งขวาเท่านั้น เพราะเขามองไม่เห็นหรือไม่รับรู้สิ่งของที่อยู่ด้านครึ่งซ้ายของนาฬิกา

หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือเขตสัมพันธ์กับสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) และสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) ในซีกขวาของสมองถูกทำลาย ผู้ป่วยอาจประพฤติตนเสมือนหนึ่งว่า ด้านซ้ายของวัตถุ หรือร่างกายของเขา มิได้มีตัวตนอยู่อีกต่อไป (No longer exist) ดังนั้น เขาอาจไม่โกนหนวด หรือไม่แต่งตัวด้านซ้ายของร่างกาย เพราะเขาจำไม่ได้หรือไม่ได้จำ และมิได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญของเขตสัมพันธ์ อันเป็นภาวะของกลุ่มอาการเพิกเฉย

การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พบผลกระทบต่อโรคลมชัก (Epilepsy) โดยที่การชัก (Seizure) ภายในสมองกลีบท้ายทอย ถูกกระตุ้น (Trigger) โดยภาพการมองเห็นกะทันหัน (Flash visual image) ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายสี (Multiple colors) เรียกว่า “สิ่งเร้าจากความรู้สึกชั่วแวบ” (Flicker stimulation) อันเป็นการชักที่อ่อนไหวต่อภาพถ่าย (Photo-sensitivity)

ผู้ป่วยอธิบายประสบการณ์ดังกล่าวว่า ได้เห็นสีที่สว่างมาก (Bright color) จนทำให้การมองเห็นพร่ามัวอย่างรุนแรง (Severely blurring) และผู้ป่วยบางรายถึงกับอาเจียน (Vomit) การชักนี้มักเกิดขึ้นในตอนกลางวัน ผ่านการชมโทรทัศน์ เล่นเกมวีดิทัฯน์ หรือระบบกระตุ้นเหมือนไฟแลบ อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด (Spontaneous) หรือถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าของการเห็นจากภายนอก (External visual stimulus) ซึ่งนับเป็นประมาณ 5% ถึง 10% ของกรณีโรคลมชักทั้งหมด

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Occipital lobe - https://en.wikipedia.org/wiki/Occipital_lobe [2016, September 10].