จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 70 : สมองกลีบข้าง (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ในการศึกษาที่ใช้การฉายภาพ PET (Position emission topography) Scan นักวิจัยขอให้ผู้เข้ารับการทดสอบ (Subject) จดจำตัวอักษรที่เขาระบุบนจอ โดยให้เห็นซ้ำ (Repeat) ครั้งแล้วครั้งเล่า ภาพ ณ กิจกรรมสูงสุด (Maximum activity) ที่เกิดขึ้นในสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) แสดงว่า สมองกลีบข้างเกี่ยวข้องกับการจดจำสิ่งของ

การศึกษาผ่านการฉายภาพอื่นๆ ของผู้เล่นหมากรุก (Chess player) แสดงให้เห็นว่า สมองกลีบข้างยังเกี่ยวข้องกับการมองเห็น (Perceiving) และการวิเคราะห์ตำแหน่งของตัวหมากรุกบนกระดาน ดังนั้น กรณีศึกษาผ่านการฉายภาพ แสดงให้เห็นว่า สมองกลีบข้างเกี่ยวข้องกับหน้าที่การรับรู้ (Cognitive) อันหลากหลาย

สมองกลีบข้าง มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการข้อมูลประสาทสัมผัส (Integrating sensory information) จากหลายๆ ส่วนของร่างกาย ความรู้ในเรื่องจำนวนและความสัมพันธ์ และในการจับต้องวัตถุด้วยมือ (Manipulation of object) โดยเฉพาะการประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องการประสาทสัมผัส (Sense of touch)

เนื่องจากลักษณะของประสาทสัมผัสที่หลากหลาย (Multi-sensory) บางส่วนของสมองกลีบข้างจะเกี่ยวข้องกับการประมวลการมองเห็นที่สัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Visuospatial processing) หากซีกขวา (Right hemisphere) ของสมองกลีบข้างถูกทำลาย จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียจินตนาการ (Imagery) การมองเห็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Visualization of spatial relationship) และการเพิกเฉย (Neglect) ของพื้นที่ซีกซ้ายของร่างกาย

หากซีกซ้าย (Left hemisphere) ของสมองกลีบข้างถูกทำลาย จะส่งผลให้เกิดปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน-เขียนเนื้อเรื่องยาว การเข้าใจสัญลักษณ์ (Symbol) และการเพิกเฉย (Neglect) ของพื้นที่ซีกขวาของร่างกาย เนื่องจากเปลือกสมองกลีบข้าง ทำให้คนเราสามารถอ่าน เขียน และแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ป้อนเข้าประสาทสัมผัส (Sensory input) จากด้านขวาของร่างกาย จะถูกส่งไปยังด้านซ้ายของสมอง และในทางกลับกัน (Vice versa) สิ่งที่ป้อนเข้าประสาทสัมผัสจากด้านซ้ายของร่างกาย จะถูกส่งไปยังด้านขวาของสมอง

มีการศึกษาหลายครั้งที่แสดงว่าการทำงานของสมองกลีบข้างที่ผิดปรกติ (Abnormal) อาจสัมพันธ์กับโรคจิตเภท (Schizophrenia) และมีความเป็นไปได้ที่ความผิดปรกติของ สสารสีเทา (Grey matter) จะเกิดขึ้นในสมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) แล้วดำเนินต่อไปในอาณาบริเวณของสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง (Alteration) ในโครงสร้างและการทำงานของโรคจิตเภท

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. 2. Parietal lobe - https://en.wikipedia.org/wiki/Parietal_lobe [2016, August 13].