จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 68: สมองกลีบหน้า (4)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

จากการศึกษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่สมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ถูกทำลาย นักวิจัยพบว่า สมองกลีบหน้าเกี่ยวข้องกับการใส่ใจ (Paying attention) การจดจำ (Remembering) สิ่งของ การตัดสินใจที่ดี (Making good decisions) ตลอดจนการวางแผนและการจัดระเบียบ (Planning and organizing) งานเหตุการณ์ (Event)

นักวิจัยยังค้นพบหน้าที่การรับรู้อื่นๆ (Other cognitive functions) ของสมองกลีบหน้า โดยการฉายภาพ PET (Position emission topography) Scan ในขณะที่ผู้เข้ารับการทดสอบ (Subject) ทำงาน (Task) ต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น การฉายภาพคำนามว่า “ค้อน” (Hammer) แล้วให้ผู้รับการทดสอบนึกถึงกริยาที่เหมาะสม อาทิ “ทุบตี” (Hit) ภาพ ณ กิจกรรมสูงสุด (Maximum activity) ที่เกิดขึ้นในสมองกลีบหน้า แสดงการทำงานของกระบวนการคิด (Thinking process)

การศึกษาผ่านการฉายภาพอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า สมองกลีบหน้ายังเกี่ยวข้องกับการใส่ใจ (Paying attention) นอกเหนือจากการวางแผนและจัดระเบียบ กระบวนการคิด และการตัดสินใจ และการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ และเป็นที่มาของคำว่า “งานผู้บริหาร” (Executive functions : EF)

“งานผู้บริหาร” เป็นกระบวนการของการรับรู้ที่รวมการควบคุมสมาธิ (Attentional control) การควบคุมอุปสรรค (Inhibitory control) ความทรงจำที่ใช้งาน (Working memory) ความยืดหยุ่นของการรับรู้ (Cognitive flexibility) การใช้เหตุผล (Reasoning) การแก้ปัญหา (Problem solving) และการวางแผน (Planning) ที่จำเป็นต่อการควบคุมพฤติกรรม อาทิ การเลือกสรรและติดตาม (Monitor) พฤติกรรมที่เอื้อต่อการบรรลุจุดประสงค์

“งานผู้บริหาร” ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ (Lifespan) ของบุคคลหนึ่ง และปรับปรุงให้ดี¬ขึ้นตลอดชีวิตของบุคคลนั้น ในทำนองเดียวกันกระบวนการการรับรู้เหล่านี้สามารถให้ผลกระทบในเชิงลบจากเหตุการณ์หลากหลายแก่บุคคลนั้น [ตั้งแต่เล็กจนโต]

การควบคุมการรับรู้ (Cognitive control) และการควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus control) เป็นกระบวนการตรงข้าม ของสภาพภายในและภายนอกตามลำดับ ซึ่งแข่งขันกันในการควบคุมพฤติกรรมที่บุคคลเลือกสรร (Elicit) โดยเฉพาะการควบคุมอุปสรรคเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสนองตอบต่อพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยสิ่งเร้า

แม้ว่าการวิจัยในเรื่อง “งานผู้บริหาร” ได้ทวีขึ้นในปีหลังๆ กรอบการทำงานทางทฤษฎี (Theoretical framework) บนพื้นฐานทางสมองไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940s โดยนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ โดนัลด์ บรอดเบ็นต์ (Donald Broadbent) ที่แยกแยะความแตกต่างระหว่างกระบวนการ “อัตโนมัติ” (Automatic) กับกระบวนการ “ควบคุม” (Controlled) และนำเสนอ “สมาธิเลือกสรร” (Selective attention) ซึ่ง “งานผู้บริหาร” มีความเกี่ยวข้องด้วยอย่างใกล้ชิด

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Executive functions - https://en.wikipedia.org/wiki/Executive_functions [2016, July 30].