จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 67: สมองกลีบหน้า (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

การจัดระเบียบ (Organization) ของสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) อาจจะดูยุ่งเหยิง เพราะมันทำหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่การเคลื่อนย้าย (Motor movement) ไปจนถึงกระบวนการรับรู้ (Cognitive process) ส่วนความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายมือไหน หรือส่วนของร่างกายไหน ขึ้นอยู่กับเปลือกสมองเคลื่อนย้าย (Motor cortex) ในข้างซ้ายหรือข้างขวาของสมองกลีบหน้า

ในการจัดระบียบของสมอง เส้นประสาท (Nerve) จากสมองด้านขวา (Right hemi-sphere) จะข้ามไปควบคุมการเคลื่อนไหวของมือซ้ายและด้านซ้ายของร่างกาย ในทางกลับกัน (Vice versa) เส้นประสาทจากสมองด้านซ้าย จะข้ามไปควบคุมการเคลื่อนไหวของมือขวาและด้านขวาของร่างกาย

เปลือกสมองเคลื่อนย้าย คือชิ้นยาวแคบๆ (Narrow strip) ของเปลือกสมองที่อยู่ขอบ (Edge) ด้านหลังของสมองกลีบหน้า แล้วขยายลงไปด้านข้าง มันเกี่ยวข้องการริเริ่ม (Initiation) ของการเคลื่อนย้ายอย่างอิสระ (Voluntary movement) โดยเปลือกสมองเคลื่อนย้ายด้านขวา ควบคุมกล้ามเนื้อด้านซ้ายของร่างกาย และในทางกลับกัน เปลือกสมองเคลื่อนย้ายด้านซ้าย ควบคุมกล้ามเนื้อด้านขวาของร่างกาย

อาณาบริเวณมือ เป็นส่วนของร่างกายที่เปลือกสมองเคลื่อนย้ายได้กว้าง ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการเคลื่อนย้ายที่ซับซ้อน เปรียบเทียบกับอาณาบริเวณที่แคบของเข่า ซึ่งเปลือกสมองเคลื่อนย้ายได้จำกัดกว่า อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม เปลือกสมองเคลื่อนย้ายเป็นเพียงส่วนน้อยของสมองกลีบหน้า

นักวิจัยพบว่า แต่ละส่วนของร่างกายมีอาณาบริเวณของเปลือกสมองเคลื่อนย้ายของตนเอง ซึ่งหมายความว่า หากส่วนหนึ่งของเปลือกสมองเคลื่อนย้ายถูกทำลายจนส่งผลให้ส่วนนั้นเป็นอัมพาต (Paralysis) ก็ไม่มีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของเปลือกสมองเคลื่อนย้าย

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งค้นพบสิ่งประหลาดใจว่า เปลือกสมองเคลื่อนย้ายเกี่ยวข้องกับความทรงจำตามลำดับเหตุการณ์ (Order of events) ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาทิ ลำดับที่สัญญาณ (Signal) เกิดขึ้น นอกเหนือจากการกระตุ้น (Trigger) การเคลื่อนย้ายอย่างอิสระ

เราได้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานอื่นๆ ของสมองกลีบหน้ามาจากบุคคลที่อาณาบริเวณส่วนนั้นของสมองถูกทำลาย ตัวอย่างเช่น ในกรณี ฟินีส์ แกจ (Phineas Gage) นักวิจัยพบว่า สมองกลีบหน้าของเขาถูกทำลายอย่างยับเยิน ส่งผลให้บุคลิกภาพของเขาแตกกระเจิง (Disruption) จนก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่แปรปรวน (Emotional swing) ในที่สุด

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Frontal lobe - https://en.wikipedia.org/wiki/Frontal_lobe [2016, July 23].