จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 66 : สมองกลีบหน้า (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เริ่มต้นในคริสต์ทศวรรษ 1930s แพทย์ได้ผ่าตัดสมองกลีบหน้า (Frontal lobotomy) เพื่อรักษาปัญหาเกี่ยวกับจิตใจและพฤติกรรม โดยที่ในปี พ.ศ. 2479 แพทย์ประสาทวิทยา (Neurologist) ชาวปอร์ตุเกสได้ใช้วิธีการผ่าตัดดังกล่าวซึ่งไม่เคยทดสอบมาก่อน เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางอารมณ์อย่างรุนแรง หลังจากนั้นก็มีการผ่าตัดดังกล่าวนับพันๆ ราย

การผ่าตัดสมองกลีบหน้า เป็นหัตถการผ่าตัดที่ประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนหน้าผากของกลีบ ถูกตัดออกจากส่วนที่เหลือของสมอง โดยแพทย์รายงานผลของการผ่าตัดครั้งแรกว่า สามารถแก้ปัญหาอารมณ์ได้ประมาณ 35% ของผู้ป่วยรำคาญหนัก (Severely agitated) แม้เขาจะไม่ได้ศึกษาแบบควบคุม (Control) หรือติดตาม (Follow-up) เพื่อตรวจสอบผลกระทบระยะยาว

บนพื้นฐานของรายงานความสำเร็จดังกล่าว มีการผ่าตัดสมองกลีบหน้า ประมาณ 18,000 ราย ในคริสต์ทศวรรษ 1940s และ 1950s ในผู้ป่วยที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางอารมณ์ (Emotionally disturbed) ซึ่งในสมัยนั้น ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องถูกกักขังอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตเท่านั้น และไม่มีทางรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

ในเบื้องต้น แพทย์ประสาทวิทยา รายงานผลกระทบระยะสั้นที่ดี แต่การศึกษากลุ่มที่ควบคุมในระยะยาวของการผ่าตัดสมองกลีบหน้า แสดงผลลัพธ์ทั้งดีและไม่ดีผสมกัน (Mixed) ผู้ป่วยบางรายลดความรุนแรง (Violent) ลง แต่ผู้ป่วยรายอื่นๆ แสดงผลไม่ดีขึ้น และเลวร้ายลงด้วยซ้ำ

แม้ในรายที่มีพฤติกรรมทางสังคม-อารมณ์ที่ดีขึ้น ก็มักลงเอยด้วยปัญหาร้ายแรงในด้านอื่น อาทิ ประสบความลำบากในการวางแผนและดำเนินการตามแผน มีปัญหาการปรับตัวใหม่ต่อความต้องการของสังคม หรือประพฤติตนด้วยการสนองตอบทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม (Inappropriate) ในสถานการณ์สังคม

เหตุการณ์ 2 อย่างเกิดขึ้นในช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษ 1950s ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของการผ่าตัดสมองกลีบหน้า เพื่อรักษาปัญหาสังคม-อารมณ์ ในเหตุการณ์แรก การวิจัยติดตามผลแสดงว่า การผ่าตัดสมองกลีบหน้ามิได้ช่วยบรรเทาปัญหาสังคม-อารมณ์ มากไปกว่าการไม่ทำอะไรเลย

ในเหตุการณ์หลัง มีการค้นพบและใช้ยาต้านโรคจิต (Anti-psychotic drug) กับผู้ป่วย ซึ่งแสดงผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยหนักจากปัญหาสังคม-อารมณ์ อย่างไรก็ตาม จากการผ่าตัดสมองกลีบหน้าในการรักษาผู้ป่วยนั้น นักวิจัยได้เรียนรู้ 2 สิ่ง กล่าวคือ (1) งานที่มีการติดตามอย่างระมัดระวัง เป็นสิ่งจำเป็นก่อนประกาศตัวว่า ได้ผ่าตัดจนสำเร็จแล้ว และ (2) สมองกลีบหน้า มีการทำงานที่สำคัญและหลากหลาย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Frontal lobe - https://en.wikipedia.org/wiki/Frontal_lobe [2016, July 16].