จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 63 : การปลูกถ่ายศีรษะ

จิตวิทยาผู้ใหญ่

หลายคนคงรู้จักเรื่องราวของ ดร. แฟรงเก้นสไตน์ (Frankenstein) ซึ่งปลูกถ่าย (Transplant) สมองเข้าไปในศพ อันนำมาซึ่งชีวิตแก่สัตวโลก (Creature) ใหม่ ด้วยการกระตุก (Jolt) ของแสงแปลบปลาบดั่งฟ้าแลบ (Bolt) ปัจจุบัน นักวิจัยเชื่อมั่นว่า การปลูกถ่ายศีรษะ (รวมทั้งสมอง) อย่างสมบูรณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ในอนาคต

นพ. โรเบิร์ต เจ. ไวท์ (Robert J. White) ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical Schoo) ได้ทำงานมากว่า 40 ปี ในเรื่องความเป็นไปได้ของการปลูกถ่ายศีรษะ ในคริสต์ทศวรรษ 1960s เขาประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเอาสมองออกจากลิงตัวหนึ่ง และเก็บรักษาสมองดังกล่าวไว้ในสารละลายพิเศษ (Special solution) เป็นเวลา 22 ชั่วโมง

ในคริสต์ทศวรรษ 1970s เขาประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเอาศีรษะของลิงตัวหนึ่ง แล้วปลูกถ่ายไปยังร่างกายของลิงอีกตัวหนึ่ง เขารายงานว่า ลิงตัวใหม่ (ซึ่งได้รับการปลูกถ่ายศีรษะ) ฟื้นจากการผ่าตัด เริ่มรู้สึกตัว (Regain consciousness) แล้วพยายามกัดนักวิจัย พร้อมทั้งกลอกลูกตาไปมาได้ และมีชีวิตอยู่ได้ 4 วัน ก่อนที่จะตายด้วยปอดล้มเหลว (Lung failure)

แม้มีประเด็นทางด้านจริยธรรม (Ethical) และศาสนา การปลูกถ่ายศีรษะจะมีคุณประโยชน์มากมาย ตัวอย่างเช่น ถ้าร่างกายที่เป็นอัมพาตใช้แขนขาไม่ได้ (Quadriplegic) [เพราะไขสันหลัง (Spinal cord) ถูกทำลาย] ได้วิวัฒนาปัญหาจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต (Life-threatening) ก็อาจเก็บศีรษะ (และสมอง) ที่ยังแข็งแรง (Healthy) เอาไว้ เพื่อปลูกถ่ายไปยังร่างกายที่แข็งแรงของผู้บริจาค (Donor) แล้วดำเนินชีวิตต่อไป

เนื่องจากนักวิจัย ยังไม่สามารถแก้ปัญหาว่า จะเชื่อมไขสันหลัง (Spinal cord) อย่างไร? ศีรษะของร่างกายที่เป็นอัมพาตไม่สามารถส่งหรือรับข้อมูลจากร่างกายของผู้บริจาค คำถามีจึงมีอยู่ว่า ถ้าคุณเป็นอัมพาตดังกล่าว บนเรือนร่างที่กำลังจะตาย คุณอยากจะมีทางเลือกและโอกาสที่จะอยู่ยาวนานขึ้น โดยการปลูกถ่ายศีรษะไหม?

ในประเด็นทางจริยธรรม มีคำถามว่า ศีรษะที่แข็งแรง สมควรได้รับโอกาสให้อยู่บนเรือนร่างของคนแปลกหน้าหรือไม่? หรือครอบครัวจะมีปฏิกิริยา (React) อย่างไร เมื่อรู้ว่า ร่างกายของลูกยังมีชีวิตอยู่? ส่วนในประเด็นทางศาสนา มีคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นแก่จิตใจ (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) ของผู้มีศีรษะที่ได้รับการปลูกถ่ายไปยังร่างกายของผู้อื่น หรือเป็นการถูกต้องไหมที่จะแยกศีรษะออกจากร่างกาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใด?

นพ. โรเบิร์ต เจ. ไวท์ ตอบคำถามเหล่านี้ โดยกล่าวว่า นิยามของการตาย เป็นประเด็นทางการแพทย์ มิใช่ศาสนา เขาเชื่อมั่นว่า ร่างกายเป็นที่รวมของพลังงาน (Energy pack) ถ้ามีหัตถการที่จะช่วยให้คนอยู่ยาวนานขึ้น แพทย์และผู้ป่วยส่วนใหญ่ คงเต็มใจที่จะทำทุกอย่างเท่าที่เขาสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออีกทางเลือกที่เหลืออยู่คือความตาย!

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Head transplant - https://en.wikipedia.org/wiki/Head_transplant [2016, June 25].