จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 62 : การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมอง (4)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

คำถามที่สำคัญ ก็คือ เนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ จะอยู่รอดไหม? และสามารถผลิตสารสื่อประสาท (Neuro-transmitter) ได้หรือไม่? หนทางหนึ่งที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ก็คือ การฉายภาพสมอง (Brain scan) ซึ่งคือการถ่ายภาพของสมองที่ยังมีชีวิตอยู่และแสดงกิจกรรม (Activity) ของเซลล์ประสาท (Neuron)

ตัวอย่างเช่น ภาพฉายสมองก่อนการปลูกถ่าย แสดงกิจกรรมในระดับต่ำของเซลล์ประสาทที่ผลิตสารสื่อประสาท (Neuro-transmitter) ชื่อ “โดปามีน” (Dopamine) ด้วยบริเวณสีเหลืองเล็กๆ และเกือบจะไม่มีบริเวณสีแดง อย่างไรก็ตาม การฉายภาพ 33 เดือนให้หลัง จะพบบริเวณสีเหลืองและสีแดง เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

ปรากฏการณ์นี้แสดงว่า เซลล์ประสาทที่ได้รับการปลูกถ่าย เริ่มผลิตโดปามีน ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การฉายภาพแสดงประจักษ์หลักฐานอย่างมาก (Dramatic evidence) ว่าเนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์สามารถอยู่รอด และผลิตสารโดปามีน เมื่อได้รับการปลูกถ่ายเข้าไปในสมองของมนุษย์

เนื่องจากเซลล์ประสาทที่เป็นโรค หรือถูกทำลาย ไม่สามารถเติบโตใหม่ (Re-grow) ได้ การใช้วิธีปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองด้วยเนื้อเยื่อสมองของผู้บริจาคที่เป็นมนุษย์หรือสัตว์ เป็นวิธีการรักษาเดียวที่สามารถทดแทนเซลล์ประสาทที่เป็นโรคได้

นักวิจัยหวังว่า การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ จะกลายเป็นวิธีการใหม่ของการรักษาโรคสมองที่ยังรักษาไม่ได้ในปัจจุบัน อันได้แก่ ผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันประมาณ 1.5 ล้านคน และผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) อีกประมาณ 4 ล้านคน

กล่าวโดยสรุป การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ เป็นการบำบัดทางการแพทย์ที่คาดหวังกันว่า เนื้อเยื่อดังกล่าวจะผลิตสารเคมีโดปามีนซึ่งขาดแคลนในสมองที่เป็นโรคพาร์กินสัน เนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์มีคุณสมบัติโดดเด่น (Unique) เพราะมันเจริญเติบโตได้เร็วมาก แต่มีความเป็นไปได้ต่ำกว่าเซลล์ของผู้ใหญ่ที่จะถูกปฏิเสธ (Reject) จากระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ของเจ้าของร่างกาย

ในปี พ.ศ. 2525 ผู้ป่วย 7 คนใน Santa Clara County รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน อีก 10 ปีต่อมา 2 ใน 7 คนดังกล่าวได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ที่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University Hospital) ในประเทศสวีเดน แต่มีเพียงผู้ป่วยรายเดียวที่สามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหว (Motor) มากพอที่จะขี่จักรยานได้

เนื่องจากแหล่งของเนื้อเยื่อสมองมาจากทารกในครรภ์ที่แท้ง (Abort) ทำให้เกิดประเด็นสำคัญทางจริยธรรมและกฎหมาย จนเป็นที่ถกเถียงกันไปทั่ว เงินทุนจากรัฐบาลกลาง (Federal funding) สหรัฐอเมรอิกา ในการทำวิจัยด้านเนื้อเยื่อไข่อ่อนที่เพิ่งจะก่อตัวเป็นร่างกาย (Embryonic) จึงถูกจำกัด (Restricted) ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเรแกน (Reagan) และ บุช (Bush) ก่อนที่ข้อจำกัดจะถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลคลินตัน (Clinton)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Fetal tissue implant - https://en.wikipedia.org/wiki/Fetal_tissue_implant [2016, June 25].