จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 56 : อาการหลอนเรื่องแขนขา (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

นักวิจัยรุ่นต่อมา คิดว่าถ้าอารมณ์ความรู้สึกว่าแขนขาที่ถูกตัดไปแล้วยังมีอยู่ (Phantom limb) มิได้มาจากตอโคนที่ถูกตัด ก็น่าจะเกิด (Originate) จากไขสันหลัง (Spinal cord) ได้

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไขสันหลังของผู้ป่วยถูกตัดขาด (Sever) เหนือตอโคน อาการหลอนก็ยังคงอยู่ เนื่องจากไขสันหลังที่ถูกตัดขาดแล้ว มิได้ขัดขวางการเกิดอารมณ์ความรู้สึก (Sensation) หรือมิได้ส่งสัญญาณไฟฟ้า (Electric signal) ไปถึงสมอง ดังนั้นคำตอบนี้จึงถูกปฏิเสธเช่นกัน

นักวิจัยรุ่นปัจจุบัน มีข้อมูลเพียงพอที่บ่งชี้ (Indicate) ว่า แหล่งกำเนิดของอารมณ์ความรู้สึกหลอน คงต้องเป็นตัวสมองเอง แต่นักวิจัยก็ยังงวยงง (Puzzled) ว่า สมองสร้างอารมณ์ความรู้สึกหลอนดังกล่าวได้อย่างไร? คำตอบใหม่ล่าสุดนี้มาจากนักวิจัยที่ได้ศึกษาประเด็นนี้มากว่า 40 ปี

ทฤษฎีของเขากล่าวว่า คนเราทุกคนมีระบบอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกโปรแกรมทางพันธุกรรม (Genetically programmed) ซึ่งส่งผลให้เรารู้ว่าส่วนของร่างกายเราอยู่ที่ไหน และในการพัฒนาภาพลักษณ์ (Image) ของร่างกายเรา บนพื้นฐานของอารมณ์ความรู้สึก สมองได้ปะติดประต่อภาพลักษณ์ของร่างกายจนสมบูรณ์

ดังนั้น จากภาพลักษณ์ของร่างกาย ตัวสมองเองได้สร้างอารมณ์ความรู้สึก เสมือนว่ามาจากส่วนของร่างกาย แม้ว่าแขนขานั้น ไม่มีอยู่จริง นักวิจัยยอมรับว่า บางส่วนของทฤษฎีเขายังต้องมีการทดสอบอีก แต่นักวิจัยอื่นๆ ก็ยอมรับว่า น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด สำหรับคำถามที่ยาวนานมากว่า 50 ปีแล้ว

มีหลากหลายวิธีที่ใช้ในการรักษาพยาบาลความเจ็บปวดจากอาการหลอนดังกล่าว แพทย์อาจสั่งยาเบาเทาความปวด ยาต้านโรคซึมเศร้า (Anti-drepressant) หรือยาต้านโรคลมชัก (Anti-epileptic) ซึ่งได้ประสิทธิผลพอสมควร นอกเหนือจาการนวด (Massage) การกระตุ้นทางไฟฟ้า (Electrical stimulation) และการบำบัดด้วยความร้อนและเย็น (Hot and cold therapy) ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ยังมีอีกหลากหลายทางเลือกสำหรับอาการหลอนเรื่องแขนขา ที่กำลังได้รับศึกษาวิจัยอย่างขะมักเขม้น (Actively) อยู่ในเวลานี้ แต่การบำบัดรักษาส่วนมากไม่ได้คำนึงถึงกลไกที่อยู่เบื้องหลัง (Underlying mechanism) จึงยังไม่สามารถประสบความสำเร็จเกินกว่า 30% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ดีกว่าผลกระทบจากการใช้ยาหลอก (Placebo) แต่อย่างใด

ปรากฏการณ์ของอาการหลอนว่าแขนขาที่ถูกตัดไปแล้วยังคงมีอยู่ แสดงว่าในบางครั้งสมองทำงานในหนทางที่ลึกลับ (Mysterious) ไม่น้อยทีเดียว แต่ที่ลึกลับซับซ้อนน้อยกว่า ก็คือวิธีการที่ยาบางขนานมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองและร่างกาย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Phantom limb https://en.wikipedia.org/wiki/Phantom_limb [2015, May 7].