จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 55 : อาการหลอนเรื่องแขนขา (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

โดนัลด์ ไวแมน (Donald Wyman) ขับรถแทรกเต้อร์เกลี่ยดิน (Bulldozer) ทำงานอยู่ในป่าลึกแห่งหนึ่ง เมื่อต้นโอ๊ค (Oak) ขนาดยักษ์ตกลงมาทับเขาจนตรึง (Pin) เขาติดกับดิน เขาอยู่คนเดียวและไม่มีใครอยู่ใกล้พอที่จะได้ยินเสียงตะโกนขอความช่วยเหลือของเขา

เขารู้ดีว่าความหวังเดียวที่เขาจะหลุดพ้นจากต้นไม้ยักษ์และมีชีวิตอยู่รอดคือการตัดขาข้างซ้ายของเขาทิ้ง เขาตัดสินใจใช้มีดกระเป๋าซึ่งมีความยาว 3 นิ้ว กระทำการดังกล่าว แม้อยู่ในสภาพเลือดอาบ (Bleeding) เขาลากตัวเองขึ้นรถกะบะ แล้วขับไปประมาณ 2 กิโลเมตร กว่าจะได้รับความช่วยเหลือ

แม้แพทย์พยายามต่อขาของเขาใหม่ (Re-attach) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น เกินกว่าจะแก้ไขได้ ในเวลาต่อมา การฟื้นฟู (Recovery) ของเขาดำเนินไปด้วยดี โดยที่เขาต้องเรียนรู้ที่จะเดินด้วยขาเทียม (Artificial) ที่ยึดติดกับโคนตัด (Stump) แต่ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดก็คือคำพูดของเขา

“ส่วนที่ยากจะทำใจได้ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ ก็คือการเผชิญกับอาการหลอนของความเจ็บปวด (Phantom pain) ผมมีความรู้สึกว่า บางคนกำลังใช้ไฟฟ้าดูด (Electric shock) ขาของผมข้างที่ไม่อยู่แล้ว จนต้องกระโดดโลดเต้นไปรอบๆ” หนังสือพิมพ์รายงานข่าวนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536 [แต่ข่าวในลักษณะนี้ ก็มิได้เป็นข่าวใหม่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังในประวัติศาสตร์]

คำถามว่า “จะรับมือกับอาการหลอนว่าแขนขายังมีอยู่ (Phantom limb) ได้อย่างไร?” มีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2409 เนื่องจากเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยกรณีที่สร้างความประหลาดใจให้แพทย์ เมื่ออย่างน้อย 80% ของผู้ป่วยรายงานถึงอารมณ์ความรู้สึก (Sensation) ของแขนขาที่ถูกตัด (Amputated) ไปแล้ว ว่ายังคงอยู่!

และอย่างน้อย 70% ของผู้ป่วยยืนยันว่าอาการหลอนดังกล่าว สร้างความเจ็บปวดจริง มิใช่ความทรงจำของอาการที่เคยเจ็บปวด ในบางราย ยังรายงานถึงท่า (Position) ที่ถูกตรึงไว้ [เหมือนตอนเกิดอุบัติเหตุ] จนต้องระมัดระวังมิให้แขนขาดังกล่าวถูกกระเทือนเวลาเดินผ่านประตูบ้าน

จากปี พ.ศ. 2409 จนถึงปัจจุบัน มีความพยายามที่จะอธิบายสิ่งที่เป็นสาเหตุของอารมณ์ความรู้สึก และการเคลื่อนไหวจากอาการหลอนว่าแขนขาที่ถูกตัดไปแล้ว ยังคงมีอยู่ นักวิจัยรุ่นแรกๆ คิดว่า อารมณ์ความรู้สึกมาจากเส้นประสาท (Nerve) ที่หลงเหลืออยู่ในตอโคนที่ถูกตัด อย่างไรก็ตามเมื่อเส้นประสาทเหล่านี้ถูกตัดใกล้ไขสันหลัง (Spinal cord) ก็น่าจะขัดขวางมิให้เกิดอาการหลอนขึ้น แต่อาการหลอนก็ยังเกิดขึ้นจริง ดังนั้น คำตอบนี้จึงถูกปฏิเสธไป

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Phantom limb https://en.wikipedia.org/wiki/Phantom_limb [2015, April 30].