จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 53 : ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

หากเราบังเอิญไปแตะถูกหลอดไฟร้อน มือเราจะกระตุก (Jerk) ออกห่างทันที โดยไม่ต้องมีจิตสำนึก (Conscious) หรือออกแรง (Effort) นี่เป็นตัวอย่างของปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Reflex) กล่าวคือเป็นการสนองตอบต่อสิ่งเร้า (Stimulus) ที่มิได้เกิดจากการเรียนรู้ (Unlearned) และมิได้จงใจ (Involuntary)

การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท (Neural connection) หรือเครือข่ายที่รองรับ (Network underlying) ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ถูกเชื่อมโยงเหมือนสายไฟไว้ล่วงหน้า (Pre-wired) ด้วยคำสั่งที่ไม่เฉพาะเจาะจง (General instruction) คนเราเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ถูกโปรแกรม (Programmed) ไว้ก่อนแล้ว

ในบางกรณี อาทิ เมื่อแพทย์เอาค้อนเคาะที่หัวเข่าผู้ป่วย เราจะเห็นหัวเข่าดังกล่าวกระตุก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ควบคุมโดยไขสันหลัง (Spinal cord) ในกรณีอื่น อาทิ เมื่อมีคนฉายแสงที่สว่างมากสู่สายตาเรา ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของลูกตา (Pupillary reflex) จะทำให้ลูกตาดำ (Pupil) หดตัวลง (Constrict)

ทุกๆ ปฏิกิริยา มี 2 – 3 ขั้นตอนที่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ว่าปฏิกิริยาดังกล่าวได้รับการเชื่อมโยงเหมือนสายไฟอย่างไร ในระบบประสาท (Nervous system)? เหตุผลหนึ่งที่เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับทันทีทันใดก็คือ มันถูกโปรแกรมทางพันธุกรรม (Genetically) และเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทไม่กี่ตัว ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ต่อไปนี้ คือลำดับขั้นตอน (Sequence) ของปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?

  1. เครื่องจับความรู้สึก (Sensor) – ผิวหนังของนิ้วมือเรา มีเครื่องจับความรู้สึกเฉพาะ (Specialized) หรือตัวรับความรู้สึก (Receptor) ที่อ่อนไหว (Sensitive) ต่อความร้อน เมื่อเราแตะถูกหลอดไฟร้อน ตัวจับความรู้สึกที่ผิวหนังของเรา จะกระตุ้น (Trigger) เซลล์ประสาทให้เริ่มปฏิกิริยาถอนตัว (Withdrawal) ทันที
  2. เซลล์ประสาทนำเข้าไขสันหลัง (Afferent neuron) - จากตัวรับความรู้สึกบนผิวหนังของเรา “ใยประสาทนำเข้า” (Dendrite) (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ประสาทรับความรู้สึก) จะนำข้อมูลความเจ็บปวด (Pain information) ในรูปแบบของสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ไขสันหลัง
  3. เซลล์ประสาทเชื่อมโยงภายใน (Inter-neuron) – เมื่อเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเดินทางไปถึงไขสันหลัง มันจะส่ง (Transmit) ข้อมูลความเจ็บปวดไปยังเซลล์ประสาทที่เชื่อมโยงกันอยู่ภายใน กล่าวคือมันมีหน้าที่หลัก (Primary) ในการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทภายใน
  4. เซลล์ประสาทออกจากไขสันหลัง (Efferent neuron) – ภายในไขสันหลัง เซลล์ประสาทเชื่อมโยงกันอยู่ภายใน จะโอนย้ายข้อมูลออกจากไขสันหลัง ไปยังเซลล์ประสาทเคลื่อนย้าย (Motor neuron) เพื่อผลิตปฏิกิริยาสนองตอบอื่นๆ ต่อนานากล้ามเนื้อและนานาอวัยวะตลอดทั่วร่างกาย

เซลล์ประสาทเชื่อมโยงภายใน จะส่งข้อมูลความเจ็บปวดไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ ที่ช่วยเร่งส่งข้อมูลไปยังส่วนต่างๆ ของสมอง ซึ่งจะแปรผล (Interpret) สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์จากมือของเราว่าร้อนและเจ็บปวด ณ จุดนี้สมองของเราจะสั่งเซลล์ประสาทเคลื่อนย้ายไปยังกล้ามเนื้อใบหน้า (Facial) และเสียง (Vocal) เพื่อให้รู้สึกและร้องด้วยความเจ็บปวด

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Reflex - https://en.wikipedia.org/wiki/Reflex [2015, April 16].