จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 30 : เผ่าพันธุ์บรรพชน (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

นักวิจัยสนใจกรณีศึกษามากมายที่เกี่ยวข้องกับสมอง โดยเฉพาะกรณีเรื่องเผ่าพันธุ์ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 3 ล้านปีที่แล้ว และอาจเป็นบรรพชน (Ancestor) รุ่นแรกสุดของมนุษย์สมัยใหม่ (Modern humans) แล้วค่อยๆ วิวัฒนาสมองที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน

กรณีศึกษาแรกเป็นเรื่องของ ลูซี่ (Lucy) ที่ได้เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เธอมีรูปร่างเตี้ย และบอบบาง (Slightly built) มีความสูงเพียง 4 ฟุต (ประมาณ 122 เซ็นติเมตร) และมีน้ำหนักเพียง 55 ปอนด์ (ประมาณ 25 กิโลกรัม) เธอมีศีรษะคล้ายลิงเอ็ป (Ape) หน้าผาก (Brow) ใหญ่เหนือดวงตา และขากรรไกรที่ยื่นออก (Protruding jaw) เพื่อรับฟันหน้าที่ใหญ่และไม่เท่ากัน (Uneven)

ในทางกายภาพ (Physical) ลูซี่มีขนดก มีกล้ามเนื้อ (Muscular) เดินตัวตรง (Upright) แต่บนขาที่ค่อนข้างงอ (Bent) และมีแขนแข็งแรง สำหรับการปีนต้นไม้ เพื่อค้นหาผลไม้และลูกนัท นักมานุษยวิทยา (Anthropologist) คิดว่า ลูซี่มิได้ประดิษฐ์เครื่องมือ ไม่รู้เรื่องไฟ และพูดจา (Converse) ด้วยอากัปกิริยา (Gesture) โบกไม้โบกมือ และทำเสียงฮึดฮัด (Grunt)

หัวกระโหลกของลูซี่เล็กมาก สามารถบรรจุสมองขนาดเท่าลิงแชมแปนซี (Chimpanzee) เท่านั้น หรือประมาณเพียง 1 ใน 3 ของมนุษย์ทั่วไป ลิงชิมแปนซีตัวผู้ จะสูงกว่าลูซี่ 1 ฟุต (ประมาณ 30.5 เซ็นติเมตร) และหนักกว่า 2 ใน 3 ของลูซี่ นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าเผ่าพันธุ์ (Species) ของลูซี่ เรียกว่า Australopithecus afarensis เป็นผู้มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 3 ล้านปีที่แล้ว

ในปี พ.ศ. 2402 ชาร์ลส ดาร์วิน ทำให้โลกตะวันตกตกตะลึง (Stun) ด้วยการตีพิมพัหนังสือ “จุดกำเนิดของเผ่าพันธุ์” (Origin of Species) ซึ่งเป็นพื้นฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ในทฤษฎีนี้ เขากล่าวว่า เผ่าพันธุ์ต่างๆ เกิดจากบรรพชนเดียวกัน โดยที่เผ่าพันธุ์ที่อยู่รอด คือเผ่าพันธุ์ที่สามารปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด (Survival of the fittest)

แม้จะเป็นเพียงทฤษฎี แต่ก็ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง จากทั้งบันทึกของซากพืชและสัตว์ที่กลายเป็นหิน (Fossil) และการตรวจสอบเมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องพันธุกรรมทั้งที่มีความเหมือนกันและมีความแตกต่างกันของนานาเผ่าพันธุ์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์สนับสนุนทฤษฎีดังกล่าว ก็ขัดแย้งอย่างรุนแรง (Deep clash) กับความเชื่อทางศาสนา ตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.

2. Nervous System - http://en.wikipedia.org/wiki/Nervous_system[2015, November 7].