จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 3 : จากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ขั้นตอนที่ 3 ความคิดริเริ่ม (Initiative) กับ ความสำนึกผิด (Guilt) เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในเด็กวัยก่อนเข้าเรียน (Pre-school) ซึ่งเด็กกำลังพัฒนาและแสวงหา (Acquire) ทักษะใหม่ทั้งร่างกายและจิตใจ กำหนดจุดประสงค์ และสนุกสนานกับ “สมรรถนะพิเศษ” (Talent) แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความหุนหันพลันแล่น (Impulse) มิฉะนั้นจะพบอันตรายจากการพัฒนาอารมณ์ที่รุนแรงเกินไปของความสำนึกผิด ในสิ่งที่เขาปรารถนา (Wish) และจินตนาการ (Fantasy)

ขั้นตอนที่ 4 “สมรรถนะ” (Competence) กับ การด้อยปัญญา (Inferiority) เป็นความท้าทายสำหรับเด็กวัยเข้าโรงเรียนแล้ว ซึ่งกำลังเรียนรู้ที่จะทำสิ่งของ ใช้เครื่องมีอ และแสวงหาทักษะสำหรับชีวิตในวัยผู้ใหญ่ เด็กที่ไม่สามารถผ่านการทดสอบ “บทเรียนชีวิต” (Mastery) ในช่วงนี้ ก็จะออกจากขั้นตอนนี้ [เมื่อพ้นวัย] ด้วยความรู้สึกว่า มีความสามารถไม่เพียงพอ (Inadequate) และด้อยปัญญา

ขั้นตอนที่ 5 อัตลักษณ์ (Identity) กับความสับสนของบทบาท (Role confusion) เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของวัยรุ่น (Adolescence) เมื่อเขาต้องตัดสินใจว่า เขาคือใคร? กำลังจะทำอะไร? และเขาหวังที่จะดำเนินชีวิตอย่างไร? คำว่า “วิกฤตเอกลักษณ์” (Identity crisis) เป็นสิ่งที่ เอริค เอริคสัน (Erik Erikson) คิดว่าเป็นความขัดแย้งหลักในขั้นตอนนี้ ผู้ที่สามารถแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว จะออกจากขั้นตอนนี้ ด้วยเอกลักษณ์ที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะวางแผนสำหรับอนาคต แต่ผู้ที่แก้ไขไม่ได้ ก็จะจมปลัก (Sink) อยู่ในความสับสน และไม่สามารถตัดสินใจได้

ขั้นตอนที่ 6 ความใกล้ชิด (Intimacy) กับ สันโดษ (Isolation) เป็นความท้าทายของผู้ใหญ่วัยต้น (Young Adult) เอริค เอริคสัน กล่าวว่า เมื่อผู้ใหญ่วัยต้นตัดสินใจได้ว่า เขาคือใคร? เขาจะแบ่งปัน (Share) ตัวเองกับผู้อื่น เขาจะเรียนรู้ในเรื่องพันธสัญญา (Commitment) แต่ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จแค่ไหนในงานการ เขาจะไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะเกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือคุ้นเคย [กับผู้อื่น]

ขั้นตอนที่ 7 การขยายพันธุ์ (Generativity) กับการหยุดอยู่นิ่ง (Stagnation) เป็นความท้าทายของผู้ใหญ่วัยกลางคน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขารู้ว่า เขาคือใคร? และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น เขาจะจมปลักอยู่กับความอิ่มเอมใจ (Complacency) และความเห็นแก่ตัว (Selfishness) หรือจะขยายพันธุ์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Creativity and renewal) การเป็นพ่อแม่ เป็นวิธีสามัญที่สุดของความสำเร็จในขั้นตอนนี้ [การขยายพันธุ์] อย่างไรก็ตาม ผู้คนสามารถสร้างผลิตผลในวิธีอื่น อาทิ ในงาน หรือในความสัมพันธุ์กับชั่วอายุที่ยังเยาว์วัย

ขั้นตอนที่ 8 ความสมบูรณ์ในตนเอง (Ego integrity) กับความสิ้นหวัง (Despair) เป็นการท้าทายขั้นสุดท้ายของวัยชรา เมื่ออายุมากขึ้น ผู้คนแสวงหาจุดหมายปลายทาง (Ultimate goal) อันได้แก่ปัญญา (Wisdom) ความสงบนิ่งทางจิตใจ (Spiritual tranquility) และการยอมรับชีวิตของตนเอง เอริค เอรคิสัน กล่าวว่า เช่นเดียวกับเด็กที่ไม่กลัวต่อชีวิต ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงในวัยนี้ ก็จะไม่กลัวต่อความตาย

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Erik Erikson - http://en.wikipedia.org/wiki/Erik_Erikson [2015, May 2].