จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 24 : การปรับปรุงนิสัยการเรียน (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ในการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 (Freshman) 57% รายงานว่า เขามีนิสัยในการเรียนที่แย่มาก (Poor) และ 54% ตอบว่า เขามีปัญหาในการบริหารเวลา สิ่งที่นักศึกษาบ่นมากที่สุดหลังการสอบก็คือ “ฉันได้อ่านหนังสือ ทบทวนคำบรรยายที่จด หลายเที่ยว แต่ก็ยังได้แค่ C” ซึ่งแสดงถึงจุดบกพร่องของนักศึกษาในการเตรียมตัวสอบ

เนื่องจากนักศึกษาได้ทบทวนบทเรียนและคำบรรยายหลายครั้ง ก่อนสอบ จึงมีความรู้สึกว่า เขาได้เรียนรู้แล้ว อย่างไรก็ตาม นักวิจัยค้นพบความจริงที่น่าประหลาดใจ (Startling fact) ว่า เกือบจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ระหว่างสิ่งที่นักศึกษาคิดว่าตนเองได้เรียนรู้ กับผลสอบที่ออกมา

เหตุผลที่นักศึกษา มีการวินิจฉัยไม่สู้ดีนัก เพราะเขาพิจารณาจากสิ่งที่เขารู้โดยทั่วไป (Generally know) มากกว่าสิ่งที่เขาจำได้โดยเฉพาะ (Specifically remember) หนทางหนึ่งที่จะพิจารณาว่า การเตรียมตัวสอบได้พร้อมหรือไม่ คือการทดสอบตนเอง แล้วตรวจสอบคำตอบต่อคำถามเฉพาะ

ปัญหาที่นักศึกษาประสบร่วมกัน คือการบริหารเวลา โดยเฉพาะการคาดคะเนต่ำกว่าความเป็นจริง (Underestimate) ในเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการเตรียมตัวสอบ ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า ประมาณ 50% ของนักศึกษามหาวิทยาลัย มักคาดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า (Repeatedly) ว่าจะเตรียมความพร้อมได้ในเวลาที่สั้นกว่าความเป็นจริง เพราะมิได้เผื่อให้เวลาเพียงพอให้กับเนื้อหา [ที่ยากต่อการเข้าใจ]

วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้บริหารเวลาได้ดีขึ้น คือการตั้งจุดมุ่งหมาย (Goal) ที่เหมาะสม ซึ่งอาจแตกต่างกันใน 3 รูปแบบ กล่าวคือ (1) ตั้งจุดมุ่งหมายเวลา อาทิ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แล้วบันทึกเวลาที่ใช้จริงต่อการศึกษาระหว่างเทอม (2) ตั้งจุดมุ่งหมายทั่วไป อาทิ ขยันศึกษาตามตารางกำหนด (3) ตั้งจุดมุ่งหมายเฉพาะ อาทิ ทำแบบฝึกได้ถูกต้องไม่ต่ำกว่า 80%

ในการกำหนดว่า จุดมุ่งหมายใดนำไปสู่การศึกษาที่ได้ประสิทธิผล นักวิจัยบอกนักศึกษา 3 กลุ่ม ให้ตั้งจุดหมายใน 3 รูปแบบข้างต้น แล้วพบว่า นักศึกษาที่ตั้งจุดมุ่งหมายเฉพาะ ทำคะแนนสอบไล่ (Final exam) ได้ดีกว่านักศึกษาที่ตั้งจุดมุ่งหมายทั่วไป

ดังนั้น ถ้าต้องการปรับปรุงทักษะการศึกษา นักศึกษาควรคำนึงน้อยลงในเรื่องเวลาทั้งหมดในการเตรียมตัว แต่มุ่งเน้น (Concentrate) มากขึ้น ในเรื่องการบรรลุจุดมุ่งหมายของผลงาน (Performance) ตัวอย่างเช่น จุดมุ่งหมายในสัปดาห์แรก อาจเป็นการทำแบบฝึกได้ถูกต้องไม่ต่ำกว่า 80% และเมื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้แล้ว อาจเขยิบขึ้นไปเป็น 90% ในสัปดาห์ต่อไป การตั้งจุดมุ่งหมายในเรื่องผลงาน มากกว่าเวลาเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การบริหารเวลาที่ได้ผลกว่า

ปัญหาหนึ่งที่นักศึกษาส่วนมากต้องเผชิญก็คือ การขาดแรงจูงใจ (Motivation) หนทางหนึ่งของแก้ปัญหานี้อย่างเชื่อถือได้ (Reliable) ก็คือ การ “ตบรางวัล” ให้ตนเอง เมื่อบรรลุจุดมุ่งหมายเฉพาะ อาทิ ทำแบบฝึกได้ถูกต้อง 100% รางวัลอาจเป็นของขวัญมีค่า การกินอาหารหรูหรา การไปชมภาพยนตร์ หรือเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูง นอกจากนี้ คำกล่าวชมในเชิงบวก และ การตอกย้ำตนเอง (Self-reinforcement) ก็เป็นการปรับปรุงผลงานที่ได้ประสิทธิผล เช่นกัน

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. 10 Highly Effective Study Habits - http://psychcentral.com/lib/top-10-most-effective-study-habits/000599 [2015, September 26].