จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 23 : การจดคำบรรยายที่ได้ผล

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เมื่อนักศึกษาฟังคำบรรยาย (Lecture) ในชั้นเรียน เขาคงจะจดคำบรรยายไปด้วย แต่นักศึกษารู้ได้อย่างไร เขากำลังใช้ระบบหรือกลยุทธ (Strategy) ที่ดีที่สุด? ในการวิจัยพฤติกรรมชิ้นหนึ่ง นักวิจัยได้แบ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่ม A ทบทวนคำบรรยายที่จด กลุ่ม B สรุปคำบรรยาย และกลุ่ม C ตอบคำถามคำบรรยาย

ในการวิจัยนี้ นักศึกษาแต่ละกลุ่ม ได้ชมวีดิทัศน์ (Videotape) และใช้กลยุทธเฉพาะในการจดคำบรรยาย โดยยุทธวิธีที่นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้ ในกลุ่ม A ก็คือ พยายามจดให้มากที่สุดที่อาจารย์สอน แล้วก่อนสอบก็ทบทวนคำบรรยายที่จด โดยหวังว่า ได้จดคำบรรยายมาอย่างดี

ในกลุ่ม B นักศึกษาจดคำบรรยายตามปรกติ แต่หลังการบรรยาย นักศึกษาสรุปคำบรรยาย ด้วยสำนวนของตนเอง นักศึกษาจะได้รับการสอนการแยกแยะหัวข้อหลัก (Main topic) และเขียนเป็นประโยคเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว ด้วยภาษาของตนเอง จากนั้นก็เขียนประโยคตามหัวข้อย่อย (Sub-topic) ที่สัมพันธ์กับหัวข้อหลัก เมื่อเชื่อมประโยคต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็จะได้บทสรุปของคำบรรยายในคำพูดของนักศึกษาเอง

ในกลุ่ม C นักศึกษา จดคำบรรยายตามปรกติ แต่หลังการบรรยาย ใช้คำบรรยายที่จด และตอบคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาในคำบรรยาย จำนวน 13 ข้อ ตัวอย่างเช่น อะไรคือใจความหลัก (Main idea)? คุณจะใช้ . . . (เนื้อหา) . . . อย่างไร? อะไรคือตัวอย่างใหม่ของ . . . ? อะไรคือความแตกต่างระหว่าง . . . กับ . . . ? นักศึกษาตอบแต่ละคำถาม จากคำบรรยายที่จดในชั้นเรียน

หนึ่งสัปดาห์หลังการชมวีดิทัศน์การบรรยาย นักศึกษาทุกกลุ่มทำข้อสอบเดียวกัน ปรากฏว่า นักศึกษากลุ่ม C ทำคะแนนได้ 51 แต้ม กลุ่ม B ได้ 43 แต้ม และกลุ่ม A ได้ 34 แต้ม นักวิจัยอธิบายพฤติกรรมว่า นักศึกษาที่จดคำบรรยาย แล้วตอบคำถามเกี่ยวกับคำบรรยาย สามารถจดจำข้อมูล ได้มากกว่าอีก 2 กลุ่ม

ในการพยากรณ์พฤติกรรมบนพื้นฐานของผลลัพธ์เหล่านี้ นักวิจัยเชื่อว่า นักศึกษากลุ่ม C จะประสบความสำเร็จในการสอบ มากกว่านักศึกษาที่ใช้วิธีการแต่ดั้งเดิมของการจดคำบรรยาย (Traditional note-taking) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วทบทวนก่อนสอบ

ส่วนในการควบคุมพฤติกรรม นักวิจัยสรุปว่า นักศึกษาสามารถเพิ่มโอกาสทำคะแนนได้ดีกว่า หากใช้เวลาในการเรียนรู้กลยุทธการจดคำบรรยายที่ได้ผลในกลุ่ม C แม้ว่ายุทธวิธีนี้จะใช้เวลามากกว่าในการเรียนรู้ แต่ผลตอบแทน (Pay-off) จะได้ผลการสอบที่ดีกว่า

ผลการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า นักจิตวิทยาตอบคำถามที่สำคัญและปฏิบัติได้ (Practical) เกี่ยวกับวิธีจดคำบรรยายที่ได้ผลที่สุด โดยรวมวิธีการพฤติกรรม (Behavioral approach) กับวิธีการรับรู้ (Cognitive approach) เข้าด้วยกัน และบรรลุจุดมุ่งหมาย 4 ประการของวิชาจิตวิทยา อันได้แก่ การบรรยาย (Description) การอธิบาย (Explanation) การพยากรณ์ (Prediction) และการควบคุม (Control) ความประพฤติ

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. How to Take Lecture Notes - http://www.wikihow.com/Take-Lecture-Notes [2015, September 19].