จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 22 : ความกังวลในการสอบ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

การวิจัยนักศึกษามหาวิทยาลัย ยังแสดงผลว่า 53% ของนักศึกษาปีที่ 1 ที่ใช้วิธีการจัดการตนเอง (Self-management) สามารถสอบเลื่อนชั้นขึ้นไปปีที่ 2 (Sophomore) ได้สำเร็จ เปรียบเทียบกับเพียง 7% ของนักศึกษาที่มิได้ใช้วิธีการดังกล่าว

งานวิจัยนี้ ยังพบว่า นักศึกษาที่มีความกังวลในการสอบ (Test anxiety) มักจะผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination) นักวิจัยประมาณการว่า 20% ของผู้ใหญ่ เป็นนักผัดวันประกันพรุ่งที่เรื้อรัง (Chronic) และจาก 30 ถึง 70% ของนักศึกษาเป็นนักผัดวันประกันพรุ่ง หรือตั้งใจ (Deliberate) ชะลอการทำงานให้สำเร็จ หรือชะลอการศึกษาเพื่อสอบ

เหตุผลที่เห็นเด่นชัด (Obvious) ได้แก่ ความเกียจคร้าน และ ขาดวินัย (Undisciplined) ปราศจากแรงจูงใจ หรือไม่รู้วิธีจัดระเบียบในเรื่องเวลา อย่างไรก็ตาม วิธีการของนักจิตวิเคราะห์ (Psycho-analytic approach) จะมองลึกซึ้งกว่าเหตุผลดังกล่าว และพยายามแยกแยะปัญหาบุคลิกภาพที่อยู่ใต้จิตสำนึก (Unconscious personality) ซึ่งอาจจะยากที่จะค้นพบ

จากการทดสอบบุคลิกภาพ นักวิจัยสรุปว่า นักศึกษาที่ผัดวันประกันพรุ่งเป็นประจำ อาจประเมินคุณค่าในตนเองต่ำ พึ่งพาผู้อื่นมากเกินไป หรือมีความกลัวมากที่จะล้มเหลวในชีวิต จนมิได้เริ่มต้นงานเสียที นักวิจัยยังศึกษาประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่นำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่ง

ตัวอย่างเช่น นักผัดวันประกันพรุ่ง มักได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ ที่เน้นย้ำความสำเร็จสูง (Over-achievement) การตั้งเป้าหมายสำหรับเด็กที่สูงอย่างไม่เป็นจริง (Unrealistic goal) หรือกเน้นย้ำารเชื่อมความสำเร็จทางการศึกษากับความรักและความเห็นชอบ (Approval) จากพ่อแม่

เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูดังกล่าว มักรู้สึกกังวล เมื่อล้มเหลวในการทำงาน และมีแนวโน้ม (Tempted) ที่จะเลื่อนงานดังกล่าวไปในอนาคต นักจิตวิทยา รู้ดีว่า ลักษณะพิเศษ (Characteristics) ของบุคลิกภาพที่ฝังลงรากลึก (Ingrained) ในตัวบุคคล อาทิ การผัดวันประกันพรุ่ง ยังคงดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพตลอดเวลา เว้นแต่บุคคลนั้นตั้งใจเปลี่ยนแปลง

นักจิตวิทยาศึกษาผลการเรียน (Academic performance) ของนักศึกษาที่มีตั้งแต่แย่ (Poor) ไปจนถึงดีมาก (Very good) เพื่อพัฒนาภาพสะท้อน (Profile) ของนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการเรียน พบว่า นักศึกษาดังกล่าวมีลักษณะพิเศษร่วมกันอยู่หลายประการ ดังนี้

  • เขารู้สึกว่า มี “สมรรถนะ” (Competency) ในการสนองตอบความต้องการ (Demand) ในชั้นเรียน
  • เขาเชื่อมั่นว่า จะสามารถรับมือ (Handle) กับสถานการณ์สอบได้
  • เขาชำนาญการจัดระเบียบของเวลาเรียน และเวลาพักผ่อน (Leisure)
  • เขาเตรียมตัวพร้อมสอบ และไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

วิธีการทางมานุษยวิทยา (Humanistic approach) นี้ จะตอกย้ำว่า นักศึกษาทุกคนมีความสามารถในการเลือก ที่โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร (Unique) สามารถค้นหาวิธีการใช้ศักยภาพของตนเองให้เต็มกำลัง และมีศรัทธาในความรู้สึกส่วนตัว

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Overcoming test anxiety - http://www.studygs.net/tstprp8.htm [2015, September 12].