จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 211: จากการสะกดจิตสู่การเสพยา

จิตวิทยาผู้ใหญ่-211

      

      ประจักษ์หลักฐานเท่าที่ปรากฏ โดยทั่วไป แพทย์ลงความเห็นว่า การสะกดจิตโดยตัวมันเอง มิใช่การบำบัดรักษาที่วิเศษน่าอัศจรรย์ (Miracle treatment) แต่อย่างใด เพียงแต่อาจเป็นวิธีการ (Technique) ที่มีประโยชน์ เมื่อประยุกต์ใช้ร่วมกับหัตถการ (Procedure) อื่น

      อย่างไรก็ตาม การสะกดจิตยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในศาล เนื่องจากเรื่องที่ซักถามกันในศาล มักมีความลำเอียง (Bias) หรือทำให้พยานที่ถูกสะกดจิต (Hypnotized witness) เข้าใจผิด หลงเชื่อคำสั่งภายใต้การสะกดจิตในการกระทำที่มิได้เกิดขึ้นจริง ดังนั้นคำให้การ (Testimony) ของพยานดังกล่าวจึงเชื่อถือไม่ได้ (Unreliable)

      กว่า 6,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ได้เสพยา (Drug) ทั้งที่ถูกกฎหมาย (Licit) และผิดกฎหมาย (Illicit) และในปัจจุบันยังคงมีการเสพยาอย่างต่อเนื่อง และทวีขึ้นไปพร้อมๆ กับปัญหาที่สัมพันธ์กับยา ส่งผลให้เกิดปัญหานานัปการ ทั้งในส่วนบุคคล ในทางการแพทย์ และในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน รวมแล้วเป็นต้นทุนของสังคมมิใช่น้อย

      เหตุผลที่ผู้คนเสพยา ได้แก่ เพื่อความปีติยินดี (Pleasure) ความสนุกสนาน (Joy) และความรู้สึกสบาย (Euphoria); สนองตอบต่อความคาดหวังของสังคม; ยอมแพ้ต่อแรงกดดันของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer pressure); รับมือกับหรือหลบหนี (Escape) จากความเครียด (Stress) ความวิตกกังวล (Anxiety) และความตึงเครียด (Tension); หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด; และบรรลุภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป (Altered) ของสติ (Consciousness)

      นักวิจัยคนหนึ่งได้ศึกษาการเสพยาในสหรัฐอเมริกา ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา แล้วสรุปว่า เราได้ผ่านวัฏจักรของความอดทนยอมรับ (Cycle of tolerance) และทัศนคติปราศจากความอดทนยอมรับ (Intolerance) ในเรื่องการเสพยา เนื่องจากประวัติศาสตร์มีแนวโน้มที่จะซ้ำรอย นักวิจัยจึงเตือนว่า สังคมของเราจะยังคงเผชิญกับปัญหาหลากหลายทั้งทางกายและทางจิตที่เกี่ยวเนื่องกับยา

      ยาที่มีผลต่อจิตประสาท (Psycho-active drug) เป็นสารเคมีที่มีผลกระทบต่อระบบประสาท (Nervous system) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสติและการรับรู้ (Awareness) มีอิทธิพล (Influence) ต่อวิธีที่เรารู้สึก (Sense) และหยั่งรู้หยั่งเห็น (Perceived) สิ่งของ และเปลี่ยนแปลงความหวั่นไหว (Mood) ความรู้สึก (Feel) อารมณ์ (Emotion) และความคิด (Thought)

      ยาดังกล่าวมีทั้งถูกกฎหมาย [อันได้แก่ กาแฟ เครื่องดื่มมึนเมา (Alcohol) และยาสูบ (Tobacco)] และที่ผิดกฎหมาย [อันได้แก่ กัญชา (Marijuana) เฮโรอีน (Heroine) โคเคน (Cocaine) และยาหลอนประสาท (Lysergic acid diethylamide : LSD)]

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Drug - https://en.wikipedia.org/wiki/Drug [2019, April 27].