จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 21 : ความกังวลในการสอบ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

นักศึกษาส่วนใหญ่ประสบความกังวลในการสอบ (Test anxiety) ซึ่งเป็นส่วนประกอบทางจิตวิทยา อารมณ์ และการรับรู้ (Cognitive) ที่มีสาเหตุจากความเครียด (Stress) ของการสอบ และอาจแทรกแซง (Interfere) ความสามารถในการคิด ใช้เหตุผล และวางแผน ความกังวลดังกล่าว เป็นประสบการณ์ที่ไม่น่ารื่นรมย์เลย และก็ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงผลของการสอบเลย หากเราเข้าใจสาเหตุแล้วหาทางแก้ไข

ส่วนประกอบทางอารมณ์ ได้แก่การตอบสนองทางสรีระ (Physiological response) ที่หลากหลาย อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ ปากที่แห้งผาก และเหงื่อออกที่ฝ่ามือ (Sweaty palm) อันที่จริง สาเหตุเหงื่อออกที่ฝามือ เกิดจากความรู้สึกเครียด และไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในห้อง แต่อย่างใด

เมื่อนักศึกษาจะเข้าสอบ หรือเพียงคิดถึงการสอบ ความคิดที่เครียดจะกระตุ้น (Trigger) ส่วนประกอบทางอารมณ์ ซึ่งจะแทรกแซงการประมวลข้อมูล (Information processing) และเพิ่มโอกาสของความผิดพลาด หนทางหนึ่งในการลดส่วนประกอบทางอารมณ์และสรีระของความกังวลในการสอบ ก็คือกิจกรรมลดความเครียด อันได้แก่ การลองผ่อนคลาย (Relaxation exercise) และจินตนาการสงบนิ่ง (Soothing imagination)

ส่วนประกอบทางการรับรู้ คือความกังวลจนเกินเหตุ (Excessive worry) โดยเฉพาะกลัวผลสอบออกมาไม่ดี ซึ่งจะแทรกแซงความสามารถในการอ่านได้ถูกต้องแม่นยำ ความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน และการแยกแยะแนวความคิด (Concept) ที่สำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลให้คะแนนสอบที่ตกต่ำลง

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงว่า นักศึกษาหญิงปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย (College freshman) มีความกังวลในการสอบมากว่านักศึกษาชาย เนื่องจากโดยทั่วไป ผู้หญิงอ่อนไหว (Sensitive) ต่อเสียงสะท้อนในเชิงลบ (Negative feedback) อาทิ คะแนนสอบ ได้ง่ายกว่าผู้ชาย

ในการวิจัยชิ้นเดียวกัน ยังพบว่า ส่วนประกอบทางการรับรู้อาจจะเป็นประโยชน์ หรือเป็นอุปสรรค (Hinder) ต่อผลงาน (Performance) นักศึกษาที่ส่งความกังวลผ่าน (Channel) การบ่น (Complaining) มักลงเอยด้วยผลสอบที่แย่ลง เพราะความกังวล เข้าแทรกแซงการอ่านในห้องสอบ ทำให้เขาทำข้อสอบผิดพลาด ในทางตรงกันข้าม นักศึกษาที่ส่งความกังวลผ่านความหมั่นเพียรในการเล่าเรียน มักลงเอยด้วยผลสอบที่ดีกว่า เพราะการเตรียมตัวสอบที่พร้อมกว่า

วิธีการหนึ่งที่จะรับมือกับความกังวลทางการรับรู้ ก็คือ การใช้ระบบการจัดการตนเอง (Self-management) บนพื้นฐานของหลักการพฤติกรรม (Behavior principle) อันได้แก่ (1) เลือกสถานที่เฉพาะ (Exclusive) สำหรับการศึกษา (2) ให้รางวัลตนเองในการศึกษา (3) จดบันทึกเวลาที่ใช้ในการศึกษา (4) จัดลำดับความสำคัญของแต่ละงาน (5) กำหนดเวลาของแต่ละงาน และ (6) ทำงานให้เสร็จทีละชิ้น

การปฏิบัติแต่ละข้อ เป็นไปตามหลักการพฤติกรรม กล่าวคือเหตุการณ์ (Event) ในสภาพแวดล้อมสามารถเปลี่ยนแปลง (Modify) พฤติกรรมได้ ผ่านการให้คุณ (Reward) และให้โทษ (Punishment)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Overcoming test anxiety - http://www.studygs.net/tstprp8.htm [2015, September 5].