จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 204: การสะกดจิต (4)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-204

      

      นักวิจัยพบว่า ผู้คนที่สนองตอบ (Responsive) ต่อการถูกสะกดจิต จะถูกคาดหวังอย่างเต็มที่ในการร่วมมือและจินตนาการตามที่ได้รับคำแนะนำ หรือมีประวัติยาวนานที่เกี่ยวข้องกับการการกล่าวอ้างของเมสเมอร์ในการฝันเฟื่องอย่างแจ่มชัด (Vivid fantasy) โดยที่ผู้เข้ารับการวิจัย (Subject) กระทำอะไรบางอย่างเพื่อสนองตอบตามคำสั่ง มิใช่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้สะกดจิต

      มีหลากหลายหนทางที่จะทดสอบความไว (Susceptibility) ต่อการสะกดจิต การทดสอบมาตรฐานสำหรับความไวดังกล่าว ก็คือการสะกดจิตบุคคลหนึ่ง แล้วให้คำสั่งเป็นชุดตายตัว (Fixed set) ที่รู้จักกันทั่วว่า “ระดับสแตนฟอร์ดของความไวต่อการสะกดจิต” (Stanford Hypnotic Susceptibility Scale)

      ระดับดังกล่าวขอให้ผู้เข้ารับการวิจัยปฏิบัติตามคำสั่งอย่างง่าย (Simple) อาทิ “แขนของคุณไร้น้ำหนัก (Weightless) และกำลังยกขึ้น” และอย่างซับซ้อน (Complex) อาทิ “ร่างกายของคุณแบกน้ำหนักมาก และคุณไม่สามารถยืนขึ้นได้” บุคคลที่ทำคะแนนสูงในระดับสแตนฟอร์ด มักถูกสะกดจิตได้ง่าย และมีแนวโน้มอยู่เช่นนั้นตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง

      เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่แล้ว เด็กๆ โดยเฉพาะผู้มีอายุอยู่ระหว่าง 8 ถึง 12 ปี มีความไวมากกว่าต่อการถูกสะกดจิตมากกว่า การเหนี่ยวนำ (Induce) การสะกดจิตนั้น ครอบคลุมหลากหลายวิธีด้วยกัน รวมทั้งการขอให้ผู้เข้ารับการวิจัย หลับตาแล้วเข้านอน ให้เพ่งความสนใจไปยังวัตถุ (อาทิ นาฬิกา) แล้วสั่งให้เข้าสู่การพักผ่อนอย่างลึก (Deep relaxation)

      ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นวิธีการที่ใช้กันมาก (Commonly use) ในการเหนี่ยวนำการสะกดจิต

      1. นักสะกดจิตสร้าง (Establish) ความรู้สึกไว้วางใจ เพื่อให้ผู้เข้ารับการวิจัยรู้สึกสบาย (Comfortable) ในสถานการณ์

      2. นักสะกดจิตแนะนำผู้เข้ารับการวิจัยให้เพ่งสมาธิไปที่บางสิ่ง อาทิ เสียงของนักสะกดจิต วัตถุ หรือภาพ (Image)

      3. นักสะกดจิตแนะนำสิ่งที่ผู้เข้ารับการวิจัยจะประสบระหว่างการสะกดจิต อาทิ เริ่มผ่อนคลาย รู้สึกง่วงนอน หรือล่องลอย (Floating) นักสะกดจิตอาจพูดว่า “ผมกำลังจะนับจาก 1 ถึง 10 ในการนับแต่ละครั้ง คุณจะค่อยๆ เลื่อนลอย (Drift) เข้าไปสู่สสภาวะสะกดจิต”

      ขั้นตอนปฏิบัตินี้ใช้ได้ทั้งบุคคลและกลุ่มคน หากเขาเหล่านั้นมีความไวต่อการสะกดจิต ระหว่างการสะกดจิต ผู้เข้ารับการวิจัย ได้รับผลกระทบจากนานาพลัง (Forces) อาทิ ความปรารถนาที่จะสนองตอบต่อคำแนะนำ และทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างความไว้วางใจให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยที่ผู้เข้ารับการวิจัยมิได้หลับอยู่ แต่ยังคงสามารถควบคุมพฤติกรรม และรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว (Surrounding) การสะกดจิตมิใช่หัตถการ (Procedure) ที่อันตราย หากใช้โดยนักวิจัยหรือแพทย์ (Clinician) ที่มีประสบการณ์ และมีประโยชน์มากในการบำบัดทางการแพทย์ (Medical therapeutic benefit)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning..
  2. Hypnosis - https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnosis [2019 ,March 9]..
  3. Franz Mesmer - https://en.wikipedia.org/wiki/Franz_Mesmer [2019, March 9].