จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 203: การสะกดจิต (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-203

      

      ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1700s นายแพทย์แอนตัน เมสเมอร์ (Anton Mesmer) ชาวเยอรมันที่กลายเป็นบุคคลยอดนิยม (Hit) ของนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเขาอ้าง (Claim) ว่า เขาสามารถรักษา (Cure) อาการโรค (Symptom) โดยการส่งผ่านพลัง (Force) เข้าไปสู่ร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งเขาเรียกพลังนี้ว่า “พลังแม่เหล็กครอบงำสัตว์โลก” (Animal magnetism)

      มีผู้ป่วยจำนวนมากให้การ (Testify) ถึงผลสัมฤทธิ์ของพลังนี้ในการรักษาโรค (Treatment) จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากสถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส (French Academy of Science) ให้สืบสวน (Investigate) เรื่องนี้อย่างจริงจัง คณะกรรมการชุดนี้ยอมรับว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยได้รับการรักษาปัญหาทางจิต (Psycho-somatic) จนหายขาด

      อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ คิดว่าจะเป็นการปลอดภัยมากกว่าที่จะสั่งห้าม (Ban) การใช้วิธีการนี้ในอนาคต เนื่องจากคณะกรรมการไม่สามารถค้นหา (Identify) ว่า การสะกดด้วยพลังลึกลับเหมือนแม่เหล็กนี้คืออะไรกันแน่? หรือมิอาจพิสูจน์ (Verify) ได้ว่า เรื่องพลังที่เมสเมอร์กล่าวอ้างนั้นมีอยู่จริงหรือไม่? แต่ชื่อของ “เมสเมอร์” ก็ได้กลายเป็นคำศัพท์ (Vocabulary) ที่ยืนหยัดมาถึงปัจจุบัน

      เราใช้คำนี้อธิบายถึงบุคคลที่ทำตัว (Act) ประหลาดๆ เพราะเขาต้องมนต์เสน่ห์ (Spell-bound) หรือถูกสะกดจิต (Hypnotized) ทุกวันนี้ เราทราบว่า เมสเมอร์มิได้เนรมิต (Create) พลังแม่เหล็กครอบงำสัตว์โลก แต่เป็นการเหนี่ยวนำ (Induce) การสะกดจิต ซึ่งสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Association : APA) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า

      “การสะกดจิต เป็นขั้นตอนปฏิบัติ (Procedure) ซึ่งนักวิจัยที่เป็นแพทย์ (Clinician) หรือนักสะกดจิต แนะนำบุคคลผ่านประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึก (Sensation) การหยั่งเห็น (Perception) ความคิดอ่าน (Thought) ความรู้สึกนึกคิด (Feeling) หรือพฤติกรรม (Behavior)”

      เราอาจได้เห็นจากโทรทัศน์ หรือการแสดงบนเวที แต่ไม่ใช่ทุกคนจะถูกสะกดจิตได้ง่าย ในการวิจัยครั้งหนึ่ง 40% ของนักศึกษามหาวิทยาลัย มีความไว (Susceptibility) ต่ำต่อการถูกสะกดจิต กล่าวคือ ไม่อาจถูกสะกดจิตได้อย่างง่ายดาย ประมาณ 30% ของนักศึกษา มีความไวปานกลางต่อการถูกสะกดจิต และอีก 30% ของนักศึกษาที่เหลือ มีความไวสูงต่อการถูกสะกดจิต

      ความไวต่อการถูกสะกดจิต มิได้มีสหสัมพันธ์กับการเป็นคนเก็บตัว (Introversion) การเป็นคนชอบสังคม (Extraversion) สถานะทางสังคม (Social position) สติปัญญา (Intelligence) พลังจิต (Will-power) เพศ (Sex) การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) หรือความง่ายในการถูกหลอก (Gullibility)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning..
  2. Hypnosis - https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnosis [2019 ,March 4]..
  3. Franz Mesmer - https://en.wikipedia.org/wiki/Franz_Mesmer [2019, March 4].