จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 200: ความผิดปรกติของการนอนหลับ (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-200

      

      อีกกรณีหนึ่งของการนอนหลับที่มีสิ่งรบกวน (Disturbance) อย่างผิดปรกติคือการเดินละเมอ (Sleep-walking) ซึ่งมักเกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 3 หรือ 4 เรียกว่า “การนอนหลับเดลต้า” (Delta sleep) และประกอบด้วยการลุกขึ้นแล้วเดินขณะที่ยังหลับอยู่ (Asleep) [ระหว่างการเดินละเมอ]

      ผู้ที่เดินละเมอมักมีการประสาน [ของอวัยวะร่างกาย] ที่แย่ (Poor coordination) เดินเหินอย่างงุ่มง่าม (Clumsy) แต่ยังหลีกเลี่ยงวัตถุได้, สามารถร่วมสนทนาได้อย่างจำกัดมากๆ, และไม่มีความทรงจำของการเดินละเมอเลย เมื่อตื่นนอน การเดินละเมอบางครั้ง (Occasionally) ในเด็ก ถือว่าไม่ผิดปรกติแต่อย่างใด

      แต่การเดินละเมอบ่อยๆ ในผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุจากความเครียด (Stress) ที่เพิ่มขึ้น, การปราศจากการนอนหลับ (Sleep deprivation), หรือปัญหาทางจิต (Mental problem) การเดินละเมออาจเป็นปัญหาร้ายแรงเนื่องจากโอกาส (Potential) ที่จะบาดเจ็บ (Injury) หรือจะเป็นอันตราย (Harm) ต่อตนเองและต่อผู้อื่น อาทิ การเดินละเมอออกจากบ้านไปยังทางด่วน

      นักวิจัยการนอน (Sleep researchers) ได้กล่าวเตือนชาวอเมริกันถึงผู้คนจำนวนมากที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ โดยเฉพาะการนอนไม่หลับ (Insomnia) ซึ่งนำไปสู่การปราศจากการนอน อันนำไปสู่การแทรกแซง (Interfere) ความเป็นอยู่ที่ดี และผลการรับรู้ (Cognitive performance)

      อาจเป็นการประหลาดใจที่จะเรียนรู้ว่า สภาวะการทำงาน (Work condition) ที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานในการฝึกหัดแพทย์ รายงานว่าแพทย์ฝึกหัดทำงานเป็นกะ (Shift) กะละ 36 ชั่วโมง และ ทำงานสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง ซึ่งอาจดำเนินไปตลอด 1 ปีเต็ม

      ผลลัพธ์ก็คือ แพทย์ฝึกหัดอาจใช้เวลาปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ โดยมีเวลาเพียงเล็กน้อยที่จะกังวลเกี่ยวกับสุขภาพกายและจิตของตนเอง เนื่องจากกฎหมาย (อาทิ ในรัฐนิวยอร์ก) อนุญาตให้ทำงานกะละ 24 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น จึงมีความพยายามจะใช้แรงงานของแพทย์อายุน้อย แต่แพทย์ดังกล่าว มักประสบปัญหาความเหน็ดเหนื่อยเรื้อรัง (Chronically fatigued) อันเกิดจากการอดหลับอดนอนที่ยาวนาน

      แพทย์นักวิจัยในเรื่องการนอนหลับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) เชื่อมั่นบนพื้นฐานของการสังเกตเป็นเวลาหลายปี ว่า “การปราศจากการนอนหลับ (Sleep deprivation) ก่อให้เกิดความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical errors)” และ “ด้วยจำนวนชั่วโมงนอนที่มากขึ้น แพทย์จะผิดพลาดน้อยลง”

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Sleep disorder - https://en.wikipedia.org/wiki/Sleep_disorder [2019, February 9].