จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 194: โลกของการฝัน (5)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-194

      

      ชาวเอสกิโม (Eskimo), ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud), หรือนักจิตบำบัด (Psycho-therapist) ตะวันตก ต่างก็เชื่อในเรื่องพลัง (Force), ความปรารถนา (Wish), และความกังวล (Concern) จากอดีต ว่าอาจปรากฏ (Reveal) ให้ผู้ฝันได้เห็นในรูปแบบของสัญลักษณ์ (Symbolic) อันที่จริง หมอผี (Shaman) ของชาวเอสกิโม ผู้ครอบครองอำนาจวิญญาณ (Spiritual power) ทำงานเหมือนนักจิตวิเคราะห์ (Psycho-analyst) ของฟรอยด์ หรือนักจิตบำบัดของโลกตะวันตก ผู้ต้องแปลผลสัญลักษณ์จากการฝัน หรือคลี่คลาย (Unravel) ความหมายของการฝัน

      อย่างไรก็ตาม พึงสังเกตว่า แต่ละทฤษฎีการฝันมีจุดมุ่งเน้นที่โดดเด่น (Unique focus) ฟรอยด์กล่าวว่า การฝันเป็นเส้นทางสู่ภาวะไร้จิตสำนึก (Unconscious) นักจิตบำบัดสมัยใหม่ เชื่อว่า การฝันแทนปัญหาที่ประสบตอนตื่นอยู่ และชาวเอสกิโม เชื่อว่าการฝันคือหนทางเข้าสู่โลกของวิญญาณ [ในอนาคต]

      แม้ว่าสัตว์จำนวนมาก รวมทั้งค้างคาว, ปลาวาฬ, ลิง, ตัวตุ่น (Mole), สุนัข, และแมว (แต่ไม่รวมงู) ต่างก็มีการนอนแบบ REM (= Rapid eye movement หรือการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของลูกตา) แต่เราไม่รู้ว่า มันมีการฝันหรือไม่? เรารู้ว่า มนุษย์ฝันเพราะมนุษย์บอกได้ การอธิบาย (Description) นับไม่ถ้วนเกี่ยวกับการฝัน ได้มาจากผู้คนที่ถูกปลุกเร้า (Aroused) จากการนอนแบบ REM และผู้ที่ได้รับการร้องขอให้บันทึกการฝันที่บ้าน

      นักวิจัยได้รวบรวม (Catalog) คำอธิบายเหล่านี้ไว้ และพบว่าแบบอย่างการฝันมีคุณลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ดังนี้

  • การฝันมีหลากหลายคุณลักษณะ อาจเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Motion) อาทิ การวิ่ง หรือการเดิน
  • มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นใต้ร่ม (Indoor) มากกว่ากลางแจ้ง (Outdoor)
  • มักเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของการมองเห็น แต่อาจ (แม้จะไม่บ่อย) รวมถึงรสชาติ, กลิ่น, หรือความเจ็บปวด
  • อาจดูเหมือนวิตถาร (Bizarre) เพราะไม่คำนึงถึง (Disregard) กฎของเกณฑ์ทางฟิสิกส์ (Law of physics) อาทิ การบิน ขึ้นไปได้ หรือการตกลงมาอย่างไม่บาดเจ็บ
  • อาจเกิดซ้ำ (Recurrent) อาทิ การฝันถึงภัยคุกคาม, ถูกติดตาม (Pursued), หรือพยายามหลบซ่อน
  • มักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของความกังวล (Anxiety) และความกลัว มากกว่าความสุขและความสนุกสนาน
  • มักไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้าทางเพศ (Sexual encounter) หรือการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual intercourse)
  • มักควบคุมไม่ค่อยได้ในเรื่องการฝันถึงสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ
  • มักมีจินตนาการของการเห็น (Visual imagery) ในผู้คนที่มองเห็นได้ (Sighted) แต่ในผู้ที่ตาบอดตั้งแต่เกิด การฝันจะไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเห็น อาจเกี่ยวข้องกับการสัมผัส (Tactile), กลิ่น (Olfactory)ม หรือการลิ้มรส (Gustatory) เท่านั้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Entering the World of Dreamshttps://www.psychologytoday.com/us/blog/the-wisdom-your-dreams/200911/entering-the-world-dreams [2018, December 29].