จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 19 : อุปนิสัยที่ปรารถนาจากคู่สมรส

จิตวิทยาผู้ใหญ่

จอห์น ก็อร์ตแมน (John Gorttman) คือนักจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาในเรื่องความสำเร็จหรือความล้มเหลวของชีวิตแต่งงาน เขาให้คำแนะนำสำหรับคู่สมรสที่กำลังแก้ไขความขัดแย้งว่า สามีควรยอมรับจุดยืนของภรรยา และภรรยาก็ควรพูดคุยด้วยความนุ่มนวล

เขาอ้างว่า ผลงานวิจัยของเขา ไม่เพียงแต่สามารถอธิบายความสำเร็จหรือความล้มเหลวของชีวิตแต่งงาน แต่สามารถยังพยากรณ์ด้วยความแม่นยำถึง 91% ว่า การแต่งงานของคู่สมรสไหนจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่เนื่องจากพฤติกรรมมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่สามารถพยากรณ์ด้วยความแม่นยำถึง 91% ความน่าเชื่อถือของข้ออ้างเขา จึงยังเป็นที่สังสัย ของนักวิจัยอื่นๆ

ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่แต่งงานด้วยความรัก แต่อาจมิใช่เป็นจริงในวัฒนธรรมอื่น ลองจินตนาการดูว่า หากคุณเกิดในประเทศอื่น แล้วได้รับการร้องขอให้เรียงลำดับรายการ (List) อุปนิสัยที่คุณปรารถนา (Desirable trait) จากคู่ชีวิตในอนาคต คุณคิดว่า วัฒนธรรมของคุณจะมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยที่ปรารถนาอย่างไร?

ในการตอบคำถามนี้ นักวิจัยได้สำรวจผู้ใหญ่วัยต้น (Young adult) จำนวน 9,000 คน ที่อาศัยอยู่ใน 37 ประเทศ โดยที่ผู้เข้ารับการสำรวจได้รับรายการของ 32 อุปนิสัย แล้วให้จัดลำดับอุปนิสัยที่ปรารถนาจากคู่ชีวิตในอนาคต ปรากฎว่า ผลลัพธ์จากหลากหลายวัฒนธรรมให้ลำดับที่ใกล้เคียงกัน ทั้งในแง่ความเหมือนและความแตกต่าง

จากการสำรวจไปทั่วโลกดังกล่าว พบว่าลำดับถัวเฉลี่ยของอุปนิสัยที่ปรารถนาจากคู่ชีวิตในอนาคต ได้แก่ (1) เมตตาและเข้าใจ (2) ฉลาด (3) บุคลิกภาพที่น่าตื่นเต้น (4) สุขภาพแข็งแรง (5) วุฒิภาวะมั่นคงทางอารมณ์ (6) ลักษณะที่พึงพาได้ [Dependable] (7) นิสัยที่น่ารื่นรมย์ (Pleasing disposition) (8) หน้าตาดี (9) สถานะทางการเงินที่ดี และ (10) พรหมจรรย์ (Virginity or chastity)

ผู้ชายและผู้หญิงมีลำดับรายการที่ใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ข้อ (1) ถึง (7) แต่มีความแตกต่างกันในข้อ (8) ถึง (10) ผู้ชายมักลำดับความสำคัญของรูปโฉมโนมพรรณ (Physical appearance) ของคู่ชีวิต ในขณะที่ผู้หญิงให้ความสำคัญแก่ความสามารถในการหารายได้ของคู่ชีวิต

ประมาณ 2 ใน 3 ของวัฒนธรรมในการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ผู้ชายต้องการสาวพรหมจรรย์ (กล่าวคือ ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน) มากกว่าผู้หญิงต้องการหนุ่มพรหมจรรย์ ตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมจีน พรหมจรรย์ในคู่ชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น (Indispensable) ก่อนการแต่งงาน

วัฒนธรรมอินเดีย ไต้หวัน และอิหร่าน ตอกย้ำค่านิยม (Value) ของพรหมจรรย์ ในขณะที่วัฒนธรรมเนเธอร์แลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ แทบไม่ให้ความสำคัญในค่านิยมนี้เลย ความแตกต่างเหล่านี้ แสดงถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับหรือลดระดับความต้องการอุปนิสัยบางประการจากคู่ชีวิตในอนาคต

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Marriage - http://en.wikipedia.org/wiki/Marriage [2015, August 22].