จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 184: จากการนอนหลับสู่การตื่นนอน (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-184

      

      เมื่อเรามีอายุ 25 ปี เราได้นอนหลับมาแล้วกว่า 9,000 ครั้ง นับเป็นจำนวนกว่า 72,000 ชั่วโมง มักมีคำถามกันว่า คนเราจำเป็นต้องนอนหลับมากน้อยแค่ไหน? ทำไมเราต้องนอน? อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราอดนอน? อะไรคือสาเหตุของการนอน?

      ผลการสำรวจ พบว่า 58% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน นอนวันละ 7 ถึง 8 ชั่วโมง 38% นอนวันละ 5 ถึง 6 ชั่วโมง และ 4% นอนวันละ 9 ถึง 10 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสำรวจเด็กทารก (Baby) ก็จะพบความแตกต่างอย่างมากมาย (Dramatically)

      เริ่มต้นที่แรกเกิดและต่อเนื่องถึงวัยชรา จะค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลง (Gradual change) ในจำนวนเวลาที่เรานอน, เปอร์เซ็นต์ที่เราใช้ในการนอนแบบ REM (= Rapid eye movement หรือการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของลูกตา), และประเภทของปัญหาการนอนที่เราประสบ

      จากวัยทารก (Infancy) ถึงวัยรุ่น (Adolescence) จำนวนเวลาที่ใช้ไปในการนอน และเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ไปในการนอนแบบ REM ค่อยๆ ลดลง ตัวอย่างเช่น เด็กเกิดใหม่ (New-born) นอนวันละประมาณ 17 ชั่วโมง และ 50% ของเวลานั้นเป็นการนอนแบบ REM ส่วนเด็กอายุ 4 ขวบ นอนวันละประมาณ 10 ชั่วโมง โดยที่ 25 ถึง 30% ของเวลานั้นเป็นการนอนแบบ REM

      นักวิจัยค้นพบเมื่อไม่นานนี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ วัยรุ่นจำเป็นต้องนอนเกือบ 10 ชั่วโมง และนาฬิกาจังหวะรอบวัน (Circadian clock) สอดคล้องกับการเข้านอนดึกและตื่นนอนสายมากกว่า นักวิจัยสรุปว่า วัยรุ่นมักต้องรีบตื่นนอนแต่เช้า (ระหว่างเวลา 6.00 น. ถึง 7.00 น.) เพื่อให้ทันเข้าชั้นเรียน ซึ่งอาจกระทบผลการเรียน (Performance) ได้

      ทางออกหนึ่งคือการเลื่อนเวลา ให้ชั้นเรียนมัธยมศึกษาเริ่มเรียนสาย 1 ชั่วโมง เพื่อให้วัยรุ่นมีเวลานอนเพียงพอ แต่เมื่ออายุถึง 20 ปี วัยรุ่นจะรับเอา (Adopt) รูปแบบของผู้ใหญ่ กล่าวคือนอนวันละประมาณ 7 ถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการนอนแบบ REM ลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 20%

      แต่เมื่ออายุถึง 60 ปี จำนวนชั่วโมงนอนจะลดลงเหลือวันละประมาณ 6.5 ชั่วโมง แต่เปอร์เซ็นต์การนอนแบบ REM ยังคงอยู่ที่ 20% เหมือนเดิม ในผู้คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 30% รายงานว่า มีปัญหาในการนอน ซึ่งบางส่วนเป็นเพราะการงีบหลับ (Nap) ตอนกลางวัน

      แล้วทำไม่คนต้องนอน? เหตุผลหนึ่งที่เรารู้ว่า การนอนเป็นสิ่งสำคัญ มาจากการศึกษาเรื่องสัตว์ ที่ปราศจาก (Deprived) การนอนหลับ หนูทดลองสามารถอยู่ได้ประมาณ 16 วัน โดยปราศจากอาหาร (แต่ได้รับน้ำ) และ 17 วัน โดยปราศจากการนอน ในส่วนของคน เท่าที่มีการทดสอบโดยอาสาสมัคร สามารถอยู่ได้ 11 วันโดยปราศจากการนอน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. World sleep societyhttp://worldsleepsociety.org/about/bylaws/ [2018, October 20].