จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 183: จากการนอนหลับสู่การตื่นนอน (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-183

      

      ร่างกายของเรามีจังหวะนอนและตื่น (Circadian rhythm) อยู่หลายช่วง ช่วงหนึ่งเป็นวงจรนอนและตื่น (Sleep-wake cycle) ซึ่งควบคุมโดยศูนย์กลางส่วนไขว้ซูปราไคแอสเมติค (Suprachiasmatic nucleus) ซึ่งเป็นอาณาบริเวณในโครงสร้างส่วนสมองไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)

      อีกช่วงหนึ่ง เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งต่ำอยู่เมื่อเราข้านอน และสูงขึ้นเมื่อเราตื่นนอน กล่าวคือเมื่อเราตื่นนอนในตอนเช้า อุณหภูมิของร่างกายที่ต่ำ จะค่อยๆ สูงขึ้นตลอดทั้งวัน เมื่อเรามีกิจกรรมมากสุด อุณหภูมิของคนตื่นเช้า (Morning person) จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าคนกลางคืน (Evening person) หรือคนเข้านอนดึก ซึ่งจะตื่นสาย

      อันที่จริง อุณหภูมิร่างกายของคนตื่นเช้า จะสูงกว่าคนเข้านอนดึกประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง และสูงสุด (Peak) ในตอนกลางคืน เร็วกว่าคนเข้านอนดึก ประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง เขาจึงเข้านอนประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง ก่อนคนเข้านอนดึก ซึ่งเข้านอนช้ากว่าประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง

      นักวิจัยสรุปข้อสมมุติฐาน (Hypothesize) ว่า ศูนย์กลางส่วนไขว้ซูปราไคแอสเมติค ควบคุมการขึ้น-ลงของอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งกำหนดว่าเราเป็นคนตื่นแต่เช้า หรือเป็นคนเข้านอนดึก ทั้งสองประเภทนี้มีพฤติกรรมแตกต่างที่น่าสนใจมาก

      นักวิจัยพบว่า นักศึกษาที่ตื่นนอนแต่เช้าตรู่ เลือกเรียนวิชาในตอนเช้า เรียนรู้ (Perform) ได้ดีกว่าในวิชาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาที่เป็นคนเข้านอนดึก หมายความว่า เพื่อการทำคะแนนได้ดีกว่า นักศึกษาควรปรับตาราง (Schedule) เวลาเรียนให้สอดคล้องกับจังหวะนอนและตื่นเฉพาะของตนเอง

      นักวิจัยยังพบว่า คนที่ทำงานกะกลางคืน (Night shift) ซึ่งต้องหมุนเวียน (Rotate) ระหว่างเวลาบ่ายกับเวลาเย็น มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเข้านอนดึก และเมื่อถึงเวลารับประทานอาหารเช้า คนเช้าตรู่มีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่มีแคลอรี่สูง (High-calorie) อย่างเต็มอิ่ม (Hearty) ในขณะที่คนเข้านอนดึกมีแนวโน้มที่จะอาหารมื้อเบา (Light) หรือไม่กินเลย (Skip)

      อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่พบความแตกต่างระหว่างเพศของคนตื่นเช้ากับคนเข้านอนดึก แต่พบในการเจริญวัยตามปรกติ (Normal aging) ผู้คนมีแนวโน้มทางสรีรวิทยา (Physiologically) และพฤติกรรม (Behaviorally) ที่จะกลายเป็นคนตื่นเช้า หลังจาอายุ 50 ปี ดังนั้น เราจะเห็นคนที่เป็นปู่ย่าตายาย มักเข้านอนแต่หัวค่ำ และตื่นแต่เช้า

      แม้คนตื่นเช้ากับคนเข้านอนดึกจะแตกต่างกันดังกล่าว แต่กลับมีโครงสร้างสมอง (Brain structure) ที่คล้ายคลึงกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้านอนแต่หัวค่ำหรือดึกดื่น และการตื่นนอนแต่เช้าตรู่หรือตื่นสาย

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. World sleep societyhttp://worldsleepsociety.org/about/bylaws/ [2018, October 13].