จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 180: โลกของการนอนหลับ (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-180

      

      เมื่อเราผ่านขั้นตอนที่ 3 และ 4 ความตึงของกล้ามเนื้อ, อัตราการเต้นของหัวใจ, การหายใจ, และอุณหภูมิ จะยังคงลดลงต่อไป และจะกลายเป็นสภาวะยากมากๆ ที่จะตื่นอยู่ หลังจากใช้เวลาตั้งแต่ 2 – 3 นาที จนถึง 1 ชั่วโมง ในขั้นตอนที่ 4 เราจะย้อนกลับผ่านขั้นตอนที่ 3 และ 2 แล้วเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ เรียกว่า การนอนหลับแบบ REM ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับการฝัน (Dreaming)

      ประเภทที่ 2 ของการนอนหลับ เรียกว่า REM (= Rapid eye movement หรือการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของลูกตา) ซึ่งประกอบขึ้น (Make up) เป็น 20% ของเวลานอนที่เหลืออยู่ อันที่จริง ลูกตาของเราจะเคลื่อนไหวไปมา (Back and forth) เบื้องหลังเปลือกตา (Eye-lid) ที่ปิดอยู่ คลื่นสมอง REM มีความถี่ (Frequency) สูง และความกว้าง (Amplitude) น้อย

      สภาวะดังกล่าว ดูค่อนข้างเหมือนคลื่นเบต้า (Beta) [พยัญชนะตัวที่ 2 ของภาษากรีก] ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราตื่นนอนและตื่นตัว (Awake and alert) ในระหว่างนอนหลับแบบ REM ร่างกายของเราจะถูกเร้าทางสรีรวิทยา (Physiologically aroused) แต่กล้ามเนื้อที่เคยเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ (Voluntary muscle) จะกลายเป็นอัมพาต (Paralyzed) ระหว่างการฝัน (Dreaming)

      เราผ่านเข้าไปในการนอนหลับแบบ REM ประมาณ 5 หรือ 6 ครั้ง ตลอดทั้งคืน โดยมีช่วงเวลาระหว่าง 30 ถึง 90 วินาที เราจะอยู่ในแต่ละช่วงเวลาการนอนหลับแบบ REM 15 ถึง 45 นาที แล้วผ่านกลับไปในการนอนหลับ Non-REM เมื่อมีการค้นพบ REM sleep ในต้นทศวรรษ 1950s นักวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อถือในสิ่งที่ค้นพบเพราะค่อนข้างผิดปรกติ แม้เราจะนอนหลับอยู่ในแบบ REM แต่ร่างกายและสมองของเราอยู่ในสภาวะทั่วไป (General state) ของสิ่งเร้าทางสรีรวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องแปลก

      ตัวอย่างเช่น ในการนอนหลับแบบ REM นั้น อัตราการเต้นของหัวใจ (Heat rate) และความดันโลหิต (Blood pressure) อาจสูงเป็น 2 เท่าของการนอนหลับแบบ Non-REM การนอนหลับแบบ REM มักถูกเรียกว่า “การนอนที่ขัดแย้งกันอยู่” (Paradoxical sleep) เนื่องจากความผิดปรกติของการนอนหลับอยู่แต่ยังถูกเร้าทางสรีรวิทยาได้

      อีกลักษณะหนึ่งที่ผิดปรกติของการนอนหลับแบบ REM ก็คือคลื่นสมองของมันค่อนข้างคล้ายกับส่วนที่บันทึกไว้ เมื่อผู้เข้ารับการวิจัยตื่นอยู่ ลำพังมีการบันทึกคลื่นสมองอย่างเดียว นักวิจัยไม่สามารถบอกได้ว่า ผู้ที่เข้ารับการวิจัยที่อยู่ในการนอนหลับแบบ REM นั้น ตื่นอยู่หรือไม่ ต้องมีการบันทึกเพิ่มถึงการเคลื่อนไหวของลูกตา จึงจะบ่งชี้ได้ถึงการเกิดการนอนหลับแบบ REM

      แม้ว่าการสนองตอบทางสรีรวิทยาจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เราก็สูญเสียความตึง (Tonus) ของกล้ามเนื้อที่คอและแขนขา (Limbs) ไปทั้งหมด (Completely) จนกลายเป็นอัมพาต (Paralyzed) อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้อที่ไม่เคลื่อนไหวอย่างอิสระ (Involuntary) จะควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ปอด และอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายให้ทำงานต่อไป

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. World sleep societyhttp://worldsleepsociety.org/about/bylaws/ [2018, September 22].