จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 18 : ความสัมพันธ์ระยะยาว (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ประโยชน์การบันทึกการสนองตอบของสีหน้า (Facial response) แต่ละคนสะท้อนถึงการแสดงออกทางอารมณ์ (Emotional expression) ที่หลากหลาย อาทิ แปลกใจ (Surprise) สนใจ (Interest) โกรธ (Anger) รังเกียจ (Disgust) และเหยียดหยาม (Contempt) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งคู่ไม่ทราบมาก่อน หรือพยายามปฏิเสธ

พฤติกรรมที่ไม่ใช้คำพูด (Non-verbal) มีความสำคัญมากในการสื่อสารในชีวิตจริง ตัวอย่างเช่น การที่ฝ่ายหนึ่งสังเกตสีหน้าของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วถามว่า “เธอเป็นอะไรไป?” เป็นเรื่องปรกติ แต่การบันทึกสีหน้าซึ่งบอกเป็นนัย (Cue) เป็นสิ่งที่จะซ่อนไว้ (Hide) หรือหลอกลวง (Fake) ได้ยาก แต่นักวิจัยสามารถแยกแยะปฏิสัมพันธ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาคู่สมรสได้

นอกจากนี้ นักวิจัยต้องการรู้ว่า อารมณ์ความรู้สึก จะอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน? ซึ่งสามารถวัดได้โดยการบันทึการสนองตอบทางสรีระ (Physiological response) อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และเหงื่อแตก (Sweating)

การสนองตอบเหล่านี้ สะท้อนการเริ่มต้นและช่วงเวลาของการเพิ่มการปลุกเร้า (Arousal) ทางสรีระและทางอารมณ์ ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งคู่ไม่ทราบมาก่อน หรือพยายามปฏิเสธ ตัวอย่างเช่น ถ้ากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบความรู้สึกที่ไม่ดีบ่อยๆ และยาวนาน มักเป็นสัญญาณว่า การแต่งงานนั้นอยู่ในสภาวะลำบาก

เราจะเห็นได้ว่า “ห้องปฏิบัติการแห่งความรัก” (Love laboratory) ของนักวิจัย ได้แก้ปัญหาในเรื่องวิธีที่เชื่อถือได้ในการวัดการสนองตอบของอารมณ์และความรู้สึก แต่เขาจะรู้ได้อย่างไร ถ้ามาตรวัดเหล่านี้ สามารถพยากรณ์ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการแต่งงาน?

เพื่อตอบคำถามนี้ นักวิจัยอาศัยวิธีวิจัยข้ามช่วงเวลา (Longitudinal) กล่าวคือเขาจะทดสอบคู่สมรสเดียวกันจำนวน 79 คู่อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 14 ปี เพื่อกำหนดว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสนองตอบทางอารมณ์ที่บันทึกไว้ สามารถใช้พยากรณ์ว่า การแต่งงานของคู่สมรสเฉพาะกรณี จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว?

ผลการวิจัย ยืนยันว่า ปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ล้มเหลว ได้แก่ (1) การวิพากษ์วิจารณ์ (Criticism) มากเกินไป (2) การพยามคอยแก้ต่าง (Defensiveness) (3) การเหยียดหยาม (Contempt) อีกฝ่ายหนึ่ง และการปิดกั้น (Stonewall) มิให้เกิดการคุยกันอย่างเปิดเผย เพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง (Settlement)

มีหลายปัจจัยที่สามารถพยากรณ์ความสัมพันธ์ของการประสบความสำเร็จ ในชีวิตแต่งงานที่ราบรื่น สามีจะไม่ปฏิเสธคำแนะนำของภรรยาทันที แต่จะยอมรับหรือค้นหาเหตุผลที่ปฏิเสธ ในชีวิตแต่งงานที่ไม่ราบรื่น สามีจะมีลักษณะเป็นเผด็จการ (Autocratic) ไม่ยอมฟัง และปฏิเสธคำแนะนำของภรรยา และมักด้วยการเหยียดหยาม

ในชีวิตแต่งงานที่ราบรื่น ภรรยาจะระมัดระวังในการบ่น (Complaint) แต่จะให้คำแนะนำอย่างนุ่มนวล (Soothing) ซึ่งจะทำให้สามียอมรับง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในชีวิตแต่งงานที่ไม่ราบรื่น ภรรยาจะบ่นหรือให้คำแนะนำ ด้วยน้ำเสียงโกรธ โดยอาจใช้คำพูดแดกดัน (Fighting word) ซึ่งจุดประทุ (Trigger) ให้สามีโกรธตอบ

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Marriage - http://en.wikipedia.org/wiki/Marriage [2015, August 15].