จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 174: จังหวะนอนและตื่น (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-174

      

      เราเคยทราบถึงเรื่องราวของสเตฟาเนีย (Stefania) ผู้ซึ่งได้รับการร้องขอโดยนักวิจัยให้อาศัยอยู่ในถ้ำสมัยใหม่ (Modernized cave) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ซึ่งเป็นกลไกเวลา (Timing device) ภายในร่างกายที่ได้รับการกำหนดด้วยพันธุกรรม (Genetically set) เพื่อควบคุม (Regulate) การสนองตอบทางสรีรวิทยา (Physiological response) สำหรับช่วงเวลาต่างๆ กัน

      ตัวอย่างเช่น เราอาจตั้งนาฬิกาชีวภาพหลายชั่วโมงสำหรับการหลั่งปัสสาวะ (Secretion of urine) ใน 1 วัน อาทิ ตามการขึ้นหรือตกข¬องอุณหภูมิภายในร่างกาย หรือในหลายๆ วัน อาทิ การหลั่งต่อเนื่องของฮอร์โมน (Hormone) ในวงจร 28 วันที่สตรีมีประจำเดือน (Menstrual cycle)

      ณ ที่นี้ เราสนใจนาฬิกาชีวภาพที่ตั้งไว้สำหรับ 1 วัน อันผลิตสิ่งที่เรียกว่า “จังหวะรอบวัน” (Circadian rhythm) ซึ่งหมายถึงนาฬิกาชีวภาพที่ได้รับการเขียนโปรแกรมทางพันธุกรรมเพื่อควบคุมการสนองตอบทางสรีรวิทยา ภายในช่วงเวลา 24 – 25 ชั่วโมง หรือ 1 วัน

      จังหวะรอบวันที่เราคุ้นเคยมากที่สุดคือจังหวะที่ควบคุมวงจรนอนและตื่น (Sleep-wake cycle) ในการศึกษาเกี่ยวกับสเตฟาเนีย นักวิจัยขจัดนานาปัจจัย (Cue) อาทิ แสง นาฬิกา วิทยุ และโทรทัศน์ จากถ้ำที่สเตฟาเนียอาศัยอยู่ จนเชื่อได้ว่า จังหวะรอบวันยาวขึ้นกว่า 24 ชั่วโมง เกือบถึง 25 ชั่วโมง

      ก่อนหน้านี้ นักวิจัยเชื่อว่า จังหวะรอบวันของเราถูกกำหนดทางพันธุกรรมให้เป็น 25 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้การควบคุมที่ดีขึ้น นักวิจัยรายงานว่า ผู้ใหญ่เยาว์วัย (อายุเฉลี่ย 24 ปี) และผู้ใหญ่สูงวัย (อายุเฉลี่ย 67 ปี) จะมีจังหวะรอบวันที่กำหนดทางพันธุกรรมสำหรับ 1 วัน ที่ยาวนานแล้วถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ชั่วโมง 18 นาที

      เนื่องจากนาฬิกาชีวภาพถูกตั้งทางพันธุกรรมสำหรับ 1 วัน ซึ่งยาวนานกว่า (24 ชั่วโมง 18 นาที) นาฬิกาของโลกอุตสาหกรรม (ซึ่งตกลงยอมรับกันที่ 24 ชั่วโมงถ้วน) ดังนั้นนาฬิกาชีวภาพต้องมีการตั้งใหม่ (Reset) โดยถัวเฉลี่ย 18 นาทีในแต่ละวัน สิ่งที่กระตุ้นการตั้งเวลาใหม่ (Resetting response) คือแสงอาทิตย์ในยามเช้า (Morning sunlight)

      หากไม่มีการตั้งนาฬิกาชีวภาพอย่างเหมาะสมในแต่ละวัน จาก 24 ชั่วโมง 18 นาที เป็น 24 ชั่วโมงถ้วน เราจะมีปัญหาในการนอนหลับ [หรือไม่หลับ] แม้ว่าเรื่องนาฬิกาชีวภาพ เป็นที่รับรู้กันมานานว่ามีอยู่จริง (Exist) แต่นักวิจัยเพิ่งจะสามารถค้นพบตำแหน่งแห่งที่ที่ถูกต้องแม่นยำ (Exact location) เมื่อเร็วๆ นี้เอง

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Rhythms of sleeping and waking https://www.sleepdisordersguide.com/article/basics/rhythms-of-sleeping-and-waking-rem-sleep-circadian-rhythm [2018, Aug 11].