จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 165: การสร้างการหยั่งรู้ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-165

      

      

      ถ้าเราเฝ้าดูการวิ่งแข่ง (Race) ประเภท 100 เมตร ตามลู่ (Track) ในสนามจริง แล้วไม่กี่นาทีต่อมาได้ชมเทปวีดิทัศน์ฉายกลับ (Video-taped replay) ของการวิ่งแข่งเดียวกัน เราจะหยั่งรู้ (Perceive) การเคลื่อนไหว (Motion) ที่ถูกผลิตขึ้นใน 2 วิธี ที่แตกต่างกัน วิธีแรกเป็นการเคลื่อนไหวที่แท้จริง (Real motion) แต่วิธีที่ 2 เป็นภาพมายา (Illusion)

      การเคลื่อนไหวที่แท้จริง หมายถึงการหยั่งรู้ของเราเกี่ยวกับสิ่งเร้า (Stimulus) หรือวัตถุ (Object) ที่เคลื่อนไหวจริงในเทศะ หรือสถานที่ (Space) หนึ่ง การเฝ้าดูการวิ่งแข่งสด (Live) ประเภท 100 เมตร ตามลู่ในสนามจริง เป็นการหยั่งรู้การเคลื่อนไหวที่แท้จริง แต่ในการชมวีดิทัศน์ฉายกลับของการแข่งขันเดียวกัน เราเห็นการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจริง (Apparent motion)

      การเคลื่อนไหวดังกล่าว หมายถึงภาพมายาที่สิ่งเร้าหรือวัตถุกำลังเคลื่อนไหวในเทศะหรือสถานที่ เมื่อในความเป็นจริง สิ่งเร้าหรือวัตถุดังกล่าวอยู่นิ่ง (Stationary) ภาพมายาของการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจริงถูกสร้างขึ้นโดยการแสดงให้เห็นอย่างรวดเร็วของภาพ (Image) นิ่งที่เป็นอนุกรม (Series) โดยที่แต่ละภาพอยู่ในตำแหน่ง (Position) หรือท่า (Posture) ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย (Slightly different) จากภาพก่อนหน้านั้น

      หลักการ (Principle) ของการสร้างการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจริง เป็นการลวงตา (Deceptive) อย่างง่ายๆ และอาจค้นพบ (Discover) ได้โดยตรวจสอบตำแหน่งของร่างกายผู้วิ่งในแต่ละกรอบ (Frame) ของภาพถ่าย ที่ค่อยๆ ล่วงเลยไปตามกาลเวลา (Time-elapse photo)

      หากเรามองภาพถ่าย (Photo) ที่วางเรียงจากซ้ายไปขวา โดยที่แต่ละกรอบ แสดงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ณ ตำแหน่งหนึ่งของร่างกายนักวิ่ง แล้วนำกรอบของภาพเหล่านี้ มานำเสนออย่างรวดเร็ว อาทิ ตามมาตรฐานของภาพยนตร์คือ 24 กรอบต่อหนึ่งวินาที เราก็จะหยั่งรู้ภาพมายาของนักกีฬาที่กำลังวิ่งอยู่ในลู่ของสนาม

      ในการทดลองที่แยบยล (Ingenious) ของอนุกรม (Series) ของภาพเหล่านี้ นักวิจัยค้นพบว่า กลไกซับซ้อน (Complex mechanism) หลากหลายที่ถูกสร้างเข้าไปในระบบการมองเห็น (Visual system) สามารถตรวจค้น (Detect) หนทาง (Cue) ที่สร้างภาพมายาของการเคลื่อนไหว

      หนึ่งในหนทางดังกล่าว คือหลักการของการปิด (Closure) ซึ่งหมายความว่า สมองของคนเราเติมความคาดหวังในการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นระหว่างภาพที่เปลี่ยนแปลง (Vary) เพียงเล็กน้อยในตำแหน่ง และนำเสนอเป็นลำดับอย่างรวดเร็ว หากปราศจากการเคลื่อนไหวเสมือน ก็จะไม่มีภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์ให้เราได้ชม

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Creating Power: the Power of Perception http://www.creatingpower.com/site/power_of_perception.html [2018, June 9].