จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 149: ความคงตัวของการหยั่งรู้ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-149

      

      ความคงตัวของรูปร่าง (Shape constancy) หมายความว่า เรามีแนวโน้มที่จะหยั่งรู้ (Perceive) ว่า วัตถุยังคงรูปร่างเหมือนเดิม แม้ว่าเมื่อเรามองจากมุมมองที่แตกต่างกัน รูปร่างของมันจะเปลี่ยนแปลงภาพที่ฉายอยู่บนจอตา (Retina) ของเราตลอดเวลา เมื่อเรามองหนังสือที่อยู่ใกล้ตัว จะมีรูปร่างของสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular) ตามรูปร่างที่ปรากฏบนจอตา

      แต่ถ้าเราเคลื่อนย้ายหนังสือให้ห่างออกไปจากตัวเรา มันจะฉายภาพสี่เหลี่ยมคางหมู (Trapezoid) บนจอตา แต่เราหยั่งรู้ว่ามันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพราะความคงตัวของรูปร่าง นอกจากความคงตัวของขนาดและรูปร่างแล้ว ยังมีความคงตัวของความสว่าง (Brightness) และสี (Color) อีกด้วย

      เมื่อเรามองเข้าไปในตู้เสื้อผ้า (Closet) ที่มีแสงสลัว (Dimly lit) เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสว่าง จะปรากฏมืดครึ้ม หรือออกเทา (Grayish) แต่เนื่องจาก “ความคงตัวของความสว่างและสี” เราจะหยั่งรู้ในการเลือกเสื้อสีแดงอย่างไม่มีปัญหา ความคงตัวดังกล่าว ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะหยั่งรู้ความสว่างและสีว่า ยังคงเหมือนเดิม แม้แสงส่อง (Illumination) และแสงสี (lighting) จะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

      ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองดูเสื้อถักกันหนาว (Sweater) ท่ามกลางแสงแดดจ้า (Bright sunlight) จะเห็นเป็นสีเหลืองสว่าง แต่ถ้าเรามองดูเสื้อตัวเดียวกัน ในที่แสงสลัว เราจะหยั่งรู้ว่า ยังคงเป็นเงา (Shade) ของสีเหลือง กล่าวคือ สีเหลืองหม่น เนื่องจากความคงตัวของความสี สีจะยังคงเหมือนเดิม แม้สภาวะแสง (Lighting condition) จะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

      อย่างไรก็ตาม หากแสงสลัวมากๆ วัตถุอาจปรากฏเป็นสีเทาส่วนใหญ่ เนื่องจากเราจะสูญเสียสายตาสี (Color vision) ในสภาวะดังกล่าว ความคงตัวของการหยั่งรู้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมัน “แปลงโฉม” (Transform) โลกที่ยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ (Chaotic) แต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงเสมอ (Ever-changing) ให้กลายเป็นโลกที่มีเสถียรภาพ (Stability) และความคงเดิมที่สะดวกสบาย (Comforting sameness)

      ปริศนาการหยั่งรู้ (Perception puzzle) ของเราในอันดับต่อไป ก็คือ สายตาของเรา สามารถมองเห็นภาพที่เป็น 2 มิติ (Dimension) เท่านั้น แต่สมองของเราสามารถ “แปลงโฉม” ให้เข้าไปสู่โลกของ 3 มิติได้อย่างไร?

      ในทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ถือว่าเส้นตรง มีเพียง 1 มิติ สำหรับพื้นผิว (Surface) บนแนวราบ (Plane), ทรงกระบอก (Cylinder) หรือทรงกลม (Sphere) ถือว่ามี 2 มิติ ส่วนภายในลูกเต๋า (Cube), ทรงกระบอกหรือทรงกลม ถือว่ามี 3 มิติ แนวความคิด (Concept) นี้ครอบคลุมเกินกว่าวัตถุทางกายภาพ รวมไปถึงอวกาศ (Space) ที่เป็นนามธรรม (Abstract) ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Subjective constancy https://en.wikipedia.org/wiki/Subjective_ikconstancy [2018, February 17].
  3. Dimensionhttps://en.wikipedia.org/wiki/Dimension [2018, February 17].