จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 148: ความคงตัวของการหยั่งรู้ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-148

      

      การหยั่งรู้ (Perception) เต็มไปด้วยปริศนา (Puzzle) ที่น่าสนใจ เมื่อสิ่งรอบตัวเรา อาทิ รถยนต์ หรือสัตว์เลี้ยง เคลื่อนไหว เรายังคงหยั่งรู้ว่า มันมีขนาดและรูปร่าง (Shape) คงตัวเหมือนเดิม ตัวอย่างเช่น รถยนต์มิได้เล็กลง เมื่อมันวิ่งด้วยความเร็วสูง หรือประตูมิได้เปลี่ยนโฉมเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู (Trapezoid) เมื่อเราเดินผ่าน ทั้งๆ ที่ไม่ตรงกับภาพที่ปรากฏบนจอตา (Retina) ของเราเลย

      ปรากฏการณ์ (Phenomenon) เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการหยั่งรู้ยังคงที่ได้อย่างไร? ในทางจิตวิทยาเราเรียกว่า “ความคงตัวของการหยั่งรู้” (Perceptual constancy) ซึ่งหมายถึง แนวโน้ม (Tendency) ที่เราจะหยั่งรู้ขนาด รูปร่าง ความสว่าง (Brightness) และสี ที่ยังคงเหมือนเดิม แม้ว่าลักษณะเฉพาะทางกายภาพ (Physical characteristics) เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

      ลองจินตนาการ (Imagine) ถึงโลกที่เราหยั่งรู้รถยนต์ ผู้คน หรือสัตว์ ที่ค่อยๆ เล็กลง เมื่อเคลื่อนไหวออกห่างไป โชคดีที่เรารอดพ้น (Spared) จากการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งเร้า (Stimulus) ตลอดเวลา ด้วย “ความคงตัวของการหยั่งรู้” ในเรื่องขนาด (Size constancy) กล่าวคือ เรามีแนวโน้มที่จะหยั่งรู้วัตถุ (Object) ว่า ยังคงมีขนาดเหมือนเดิม แม้ว่าภาพ (Image) ของมันจะค่อยๆ โตขึ้น (Grow) หรือหดตัวลง (Shrink) ก็ตาม

      เมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนออกไป มันจะฉาย (Project) ภาพที่เล็กลงบนจอตา แต่เรามิได้หยั่งรู้ขนาดที่เล็กลงดังกล่าว เพราะความคงตัวของขนาด กระบวนการที่คล้ายกัน (Similar) จะเกิดขึ้น เมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนเข้าหาตัวเรา ภาพที่ฉายไปยังจอตาจะใหญ่ขึ้น แต่เรามิได้หยั่งรู้ขนาดที่ใหญ่ขึ้นดังกล่าว เพราะ “ความคงตัวของขนาด” (Size constancy) เช่นกัน

      ความคงตัวของขนาด เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การเคลื่อนที่ของวัตถุ มิได้ทำให้ขนาดของมันเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น คนที่ตาบอดตั้งแต่เกิด เมื่อสายตา (Vision) ของเขาได้รับการฟื้นฟูตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว มองออกไปจากหน้าต่างชั้น 4 ของอาคาร จะรายงานว่า เขาได้เห็นสัตวโลกขนาดจิ๋ว (Tiny creature) เดินป้วนเปี้ยนอยู่บนทางเท้า (Side-walk) เนื่องจากเขาไม่เคยเรียนรู้มาก่อนในชีวิตถึงความคงตัวของขนาด เขาจึงไม่รู้ว่าสัตวโลกขนาดจิ๋วดังกล่าว ที่แท้แล้วเป็นผู้คนขนาดเท่าตัวจริง (Full size)

      เรายังหยั่งรู้รูปร่างว่า มีความคงตัวเหมือนกัน แต่ละครั้งที่เราเคลื่อนย้ายหนังสือ ภาพฉายที่ปรากฏบนจอตา จะเปลี่ยนแปลงจากสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular) ไปเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู แต่เรามองเห็นรูปร่างของหนังสือ ว่ายังคงเหมือนเดิม เนื่องจาก “ความคงตัวของรูปร่าง” (Shape constancy)

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Subjective constancy https://en.wikipedia.org/wiki/Subjective_ikconstancy [2018, February 10].