จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 147: จิตวิทยาโครงสร้างกับจิตวิทยาองค์รวม (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-147

      

      อีกหนึ่งในกฎเกณฑ์ที่พื้นฐานสุดในการจัดแจงให้เกิดการหยั่งรู้ (Perception) คือ ความเหมือน (Similarity) ซึ่งกล่าวว่า ในการจัดแจงสิ่งเร้า (Stimulus) เราจะรวมปัจจัยพื้นฐานหรือธาตุ (Element) ที่ดูเหมือนจะคล้ายกันเข้าด้วยกัน

      เมื่อจักษุแพทย์ทดสอบว่า เราตาบอดสีหรือไม่ เขาจะให้เรามองดูภาพวงกลมที่ประกอบด้วยนานาจุด สีเข้มและสีจาง โดยที่ตรงกลางจะมีจุดสีเข้มกว่าเล็กน้อย ประกอบขึ้นเป็นตัวเลข แล้วถามเราว่า มองเห็นตัวเลขอะไร? ถ้าตาเราไม่บอดสี เราจะตอบถูกตัวเลขที่มีการจัดแจงตั้งแต่แบบง่ายๆ ไปจนถึงแบบซับซ้อน

      กฎเกณฑ์ความเหมือนเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารวมกลุ่มจุดเข้มกว่าเล็กน้อย เข้าด้วยกันและขัดขวางมิให้เราเห็นหมายเลขอื่นได้ชัดเจน เนื่องจากการจัดแจงสุ่ม (Random arrangement) ของจุดสีเข้ม และจุดสีจาง

      กฎเกณฑ์ข้อที่ 3 คือ การปิดช่องว่าง (Closure) ซึ่งกล่าวว่า ในการจัดแจงสิ่งเร้า เรามีแนวโน้มที่จะเติมให้เต็มในส่วนที่พร่องไป (Missing) ของรูป (Figure) และมองเห็นรูปอย่างสมบูรณ์ (Complete) ตัวอย่างเช่น กฎการปิดช่องว่าง อธิบายว่า ทำไมเราจึงสามารถเติมตัวอักษรที่พร่องไปในป้าย หรือชิ้นส่วนที่พร่องไปของปริศนาชิ้นส่วน (Jigsaw puzzle)

      กฎเกณฑ์ข้อที่ 4 คือ ความใกล้ชิด (Proximity) ซึ่งกล่าวว่า ในการจัดแจงสิ่งเร้า มักจะรวมวัตถุที่อยู่ใกล้กันทางกายภาพ (Physical close) เข้าด้วยกัน

      กฎเกณฑ์ข้อที่ 5 คือ ความง่ายดาย (Simplicity) ซึ่งกล่าวว่า เราจัดแจงสิ่งเร้าในวิถีที่ง่ายที่สุด กล่าวคือ เรามีแนวโน้มที่จะมองรูปที่ซับซ้อน โดยแบ่งออกเป็นรูปง่ายๆ หลายรูป ประกอบกัน

      กฎเกณฑ์ข้อที่ 6 คือ ความต่อเนื่อง (Continuity) ซึ่งกล่าววว่า ในการจัดแจงสิ่งเร้า เรามีแนวโน้มที่จะโปรดปราน (Favor) เส้นทางที่ราบรื่น หรือต่อเนื่อง เมื่อแปรผล (Interpret) จุดหรือเส้นต่อเนื่องกัน

      กฎเกณฑ์เหล่านี้ แสดงถึงการจัดแจงสิ่งเร้าให้กลายเป็นการหยั่งรู้ เรียกว่า “กฎเกณฑ์เกสตัลท์” (Gestalt) คำว่า “เกสตัลท์” นี้เป็นภาษาเยอรมันซึ่งวงการจิตวิทยาได้แปลความหมายเดิมไว้ว่า แบบหรือรูปร่าง (Gestalt = form or pattern) ต่อมาปัจจุบันแปล เกสตัลท์ว่า เป็นส่วนรวมหรือส่วนประกอบทั้งหมด (Gestalt =The wholeness)

      เด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้กฎเกณฑ์หยั่งรู้เหล่านี้และสามารถใช้มันเมื่ออายุได้ 2 ขวบ ในฐานะผู้ใหญ่ เรามักใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้เพื่อจัดแจงสิ่งเร้า (โดยเฉพาะสิ่งตีพิมพ์ และโฆษณา) จำนวนมหาศาล ให้กลายเป็นการหยั่งรู้

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Gestalt psychologyhttps://en.wikipedia.org/wiki/Gestalt_psychology [2018, February 3].