จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 145: จิตวิทยาโครงสร้างกับจิตวิทยาองค์รวม (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-145

ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษ 19 มีนักจิตวิทยาอยู่ 2 กลุ่ม ที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือด (Heated debate) ในประเด็นว่า การหยั่งรู้ (Perception) เกิดขึ้นได้อย่างไร? กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “นักจิตวิทยาโครงสร้าง” (Structuralist) เชื่อมั่นว่า เมื่อเราบวกจำนวน ประสาทสัมผัส (Sensation) นับพันๆ หน่วยเข้าด้วยกัน ก็จะเกิดการหยั่งรู้

นักจิตวิทยาอีกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “นักจิตวิทยาองค์รวม” (Gestalt) โต้แย้งว่า การหยั่งรู้มิได้เกิดจากการบวกจำนวนประสาทนับพันๆ หน่วยเข้าด้วยกัน แต่เกิดจากการรวมตัว (Combine) ของประสาทสัมผัสไปตามกลุ่ม (Set) กฎเกณฑ์แต่กำเนิด (Innate rule) เข้าด้วยกัน

นักจิตวิทยาโครงสร้าง เชื่อมั่นว่า เราสามารถรวมหน่วย (Element) พื้นฐานของประสาทสัมผัส เพื่อก่อให้เกิดการหยั่งรู้ที่ซับซ้อน และยังเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำงานย้อนกลับ (Backward) เพื่อแตกแขนง (Break down) การหยั่งรู้ ให้เป็นหน่วยย่อยหรือเล็กลงได้

นักจิตวิทยากลุ่มนี้ใช้เวลานับหลายร้อยชั่วโมงวิเคราะห์ว่าการหยั่งรู้ (อาทิ ลูกบอลที่กำลังตกลง) จะถูกแยกย่อยให้เป็นหน่วยที่เล็กลงได้อย่างไร? เขาเหล่านั้นเชื่อว่า เมื่อเขาเข้าใจกระบวนการแตกแขนงของการหยั่งรู้ เขาก็จะรู้ว่า หน่วยย่อยดังกล่าวรวมตัวกันใหม่ (Re-combined) เพื่อให้เกิดการหยั่งรู้ได้อย่างไร?

ดังนั้น นักจิตวิทยาโครงสร้าง จึงเชื่อว่า เราสามารถบวกจำนวนประสาทสัมผัสพื้นฐานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการหยั่งรู้ในลักษณะเดียวกันกับการบวกเลขในแนวตั้ง (Column) เพื่อให้ได้ผลรวม (Total) ตัวอย่างเช่น การบวกหน่วยพื้นฐานของสี อิฐ ใบไม้ (Foliage) กิ่งก้าน กระเบื้อง กระจก และเหล็ก เพื่อให้เกิดเป็นภาพ (Scene) จิตรกรรมฝาผนังของทิวทัศน์

แต่ความคิดนี้ได้รับการโต้แย้งอย่างหนัก (Hotly denied) จากนักจิตวิทยาองค์รวม ที่กล่าวว่า การหยั่งรู้เป็นกระบวนการซับซ้อนเกินกว่าที่จะเกิดจากการบวกประสาทสัมผัสเข้าด้วยกัน

เขาเหล่านั้นเชื่อว่า สมองของเราทำตามคำสั่งของกลุ่มกฎเกณฑ์ที่ระบุ (Specify) ว่าแต่ละหน่วยย่อยได้รับการจัดแจง (Organized) ให้เป็นรูปแบบที่มีความหมาย (Meaningful pattern) ของการหยั่งรู้ ในลักษณะเดียวกับการที่สมองของเรา ปฏิบัติตามกลุ่มกฎเกณฑ์สำหรับการจัดแจงคำ (Word) ให้เป็นประโยค (Sentence) ที่มีความหมาย

เขาเหล่านั้นพัฒนาประโยคที่จำง่ายและดึงดูดใจ (Catchy) ว่า “องค์รวมได้ผลลัพธ์ที่มากว่าผลบวกของชิ้นส่วนทั้งหมด” (The whole is more than the sum of its part.)

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Structiralism https://en.wikipedia.org/wiki/Structuralism [2018, January 20].
  3. Gestalt psychologyhttps://en.wikipedia.org/wiki/Gestalt_psychology [2018, January 20].