จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 144: ประสาทสัมผัสกับการหยั่งรู้ (4)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-144

ขั้นตอนจากประสาทสัมผัส (Sensation) กลายเป็นการหยั่งรู้ (Perception) มีดังนี้

1. สิ่งเร้า (Stimulus) – เนื่องจากตามปรกติ เราประสบ (Experience) การหยั่งรู้เท่านั้น เราจึงไม่รับรู้ (Aware) ขั้นตอนก่อนหน้านั้น (Preceding) ขั้นตอนแรกเริ่มต้นด้วยสิ่งเร้าบางอย่าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของพลังงาน (Energy) ในสภาพแวดล้อม อาทิ คลื่นแสง คลื่นเสียง แรงดันเชิงกล (Mechanical pressure) หรือสารเคมี สิ่งเร้ากระตุ้น (Activate) ตัวรับความรู้สึก (Sense receptor) ในตา หู ผิวหนัง จมูก หรือปาก

2. พลังงานเหนี่ยวนำ (Transduction) – หลังจากเข้าสู่สายตา คลื่นแสงจะมุ่งเน้น (Focus) ไปที่ชั้นจอตา (Retina) ซึ่งประกอบด้วยตัวรับแสง (Photo-receptor) ที่อ่อนไหว (Sensitive) ต่อแสง คลื่นแสงจะถูกดูดซึม (Absorbed) โดยตัวรับแสง ซึ่งแปลงพลังงานกายภาพ (Physical) ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า (Electrical signal) เรียกว่า “พลังงานเหนี่ยวนำ” สัญญาณไฟฟ้าจะถูกแปลงเป็นชีพจร (Impulse) ที่เดินทางไปสู่สมอง อวัยวะความรู้สึก อาทิ ตา จะไม่สร้างประสาทสัมผัสแต่แปลงโฉม (Transform) พลังงานเหนี่ยวนำให้กลายเป็นสัญญาไฟฟ้า

3. อาณาบริเวณหลักของสมอง (Brain primary area) – ชีพจรจากอวัยวะความรู้สึก จะเดินทางไปยังอาณาบริเวณหลักของสมอง ตัวอย่างเช่น ชีพจรจากหูจะเดินทางไปยังสมองกลีบขมับ จากการสัมผัส (Touch) ไปยังสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) และจากตาไปยังสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) เมื่อชีพจรเดินทางไปถึงอาณาบริเวณหลักในสมองกลีบท้ายทอย มันจะถูกแปลงเป็นประสาทสัมผัส

4. อาณาบริเวณรองของสมอง (Brain association area) – แต่ละความรู้สึกจะส่งชีพจรเฉพาะ (Particular) ไปยังอาณาบริเวณหลักของสมอง ซึ่งจะถูกแปลงให้กลายเป็นประสาทสัมผัส แต่เป็นเศษ (Bit) ข้อมูลที่ไร้ความหมาย อาทิ รูปร่าง สี และเนื้อแก่น (Texture) จากนั้น ชีพจรประสาทสัมผัสก็จะถูกส่งไปยังอาณาบริเวณรองที่เหมาะสม (Appropriate) ในสมอง ซึ่งจะแปลงเศษข้อมูลที่ไร้ความหมายให้กลายเป็นภาพ (Image) ที่มีความหมาย เรียกว่า “การหยั่งรู้”

5. การหยั่งรู้ส่วนบุคคล (Personalized perception) – แต่ละบุคคลมีประสบการณ์ อารมณ์ และความทรงจำ ส่วนตัวที่โดดเด่นไม่ซ้ำกับใคร (Unique) ซึ่งจะเพิ่มเข้าไปในการหยั่งรู้ โดยอาณาบริเวณอื่นๆ ของสมอง ผลลัพธ์ก็คือการหยั่งรู้ของเรามิได้เป็นกระจกเงา (Mirror) แต่เป็นสำเนา (Copy) ของวัตถุ สัตว์ ผู้คน และสถานการณ์ในโลกแห่งความจริงที่ถูกเปลี่ยนแปลง ลำเอียง หรือแม้กระทั่งบิดพลิ้ว (Distorted)

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Sensation (psychology) https://en.wikipedia.org/wiki/Sensation_(psychology) [2018, January 13].
  3. Perception https://en.wikipedia.org/wiki/Perception [2018, January 13].