จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 140: จิตฟิสิกส์ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-140

ตามกฎของ นักจิตฟิสิกส์ (Psychophysics) อี เอช เวเบ่อร์ (E. H. Weber) ในทุกขั้นตอน (Step) ที่สูงขึ้นของสิ่งกระตุ้น (Stimulus) เราจะมีความสามารถในการค้นพบ “หนึ่งหน่วยของประสาทสัมผัส” (One sensory unit) ของ “ความแตกต่างเพียงสังเกตเห็น” (Just Notice-able Difference : JND) ระหว่างความดัง-ค่อยของเสียง

ความกว้างที่เล็กน้อยของขั้นตอนที่มีความเข้มข้นต่ำ (Low intensity) แสดงว่า เราต้องการเพียงความแตกต่างเล็กน้อย เพื่อให้สามารถค้นพบ JND ระหว่างความดัง-ค่อยของเสียง ซึ่งเป็นไปตามกฎของเวเบ่อร์ ที่กล่าวว่า ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในความเข้มข้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการค้นพบ JND เมื่อประเมิน (Judge) สิ่งกระตุ้นของความเข้มข้นที่ต่ำกว่า

ในทางตรงข้าม ความกว้างมาก (Considerable) ของขั้นตอนที่มีความเข้มข้นสูง แสดงว่า เราต้องการความแตกต่างมากขึ้น เพื่อให้สามารถคนพบ JND ระหว่างความดัง-ค่อยของเสียง ซึ่งเป็นไปตามกฎของเวเบ่อร์ ที่กล่าวว่า ความแตกต่างที่กว้างมากในความเข้มข้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการค้นพบ JND เมื่อประเมิน (Judge) สิ่งกระตุ้นของความเข้มข้นที่สูงกว่า

นอกจากอธิบายปัญหาความเสียงดังของระบบเสียงแยก (Stereo) แล้ว กฎของเวเบ่อร์ สามารถประยุต์ใช้ในทางปฏิบัติได้หลายอย่าง อาทิ การค้นพบความแตกต่างในเสียงค่อยแม้ในผ้าขนหนู (Towel) ทุกๆ ปี อุตสาหกรรมและธุรกิจใช้เงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ในการทำให้แน่ใจว่า ผู้บริโภคสามารถค้นพบ JND ระหว่างปีนี้ กับปีที่แล้ว ในเรื่องรถยนต์ น้ำยาสระผม (Shampoo) ข้าวกรอบ (Cereal) และความนิยมทันสมัย (Fashion)

ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคใช้เงินนับล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปีสำหรับน้ำยาปรับผ้านุ่ม (Fabric softener) ซึ่งเติมใส่ระหว่างซักผ้า แล้วอวดอ้าง (Claim) ว่า ทำให้เสื้อผ้านุ่มขึ้น เพื่อทดสอบคำอวดอ้างดังกล่าว นักวิจัยขอให้ผู้เข้ารับการทดลอง (Subject) สัมผัสผ้าขนหนูที่ซักพร้อมด้วยน้ำยาปรับผ้านุ่ม และที่ซักโดยปราศจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม แล้วให้คะแนนความนุ่มจากมาตราส่วน 1 (แข็งมากๆ) ถึง 30 (นุ่มมากๆ)

ผลปรากฏว่า ผู้เข้ารับการทดลองให้คะแนนถัวเฉลี่ยที่ 5 สำหรับผ้าขนหนูที่ซักซ้ำแล้วซ้ำเล่า (Repeatedly) โดยปราศจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม และคะแนนถัวเฉลี่ยที่ 18 สำหรับผ้าขนหนูที่ซักพร้อมน้ำยาปรับผ้านุ่ม นักวิจัยสรุปว่า น้ำยาปรับผ้านุ่มมีประสิทธิผลจริง เนื่องจากผู้เข้ารับการทดลองสามารถค้นพบ JND ในความนุ่ม ได้อย่างง่ายดาย

คำถามที่น่าสนใจถัดจากการค้นพบสิ่งกระตุ้นและแยกแยะความแตกต่าง (Distinguish) ระหว่างความเข้มข้น ก็คือ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประสาทสัมผัสที่ไร้ความหมายให้กลายเป็นการหยั่งรู้ (Perception) ที่มีประโยชน์ได้อย่างไร?

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Perception https://en.wikipedia.org/wiki/Perception [2017, December 16].