จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 132: ระบบเทียมของการมองเห็น (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-132

ในอีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งพยายามฟื้นฟู (Restore) การมองเห็นแม้เป็นเพียงบางอย่าง ผู้ป่วยตาบอดได้รับการใส่ (Fit) กล้องถ่ายรูปขนาดจิ๋ว (Miniature camera) ซึ่งส่งสัญญาณไปยัง 100 ขั้วไฟฟ้า (Electrode) ที่ถูกฝัง (Implant) โดยตรงเข้าไปในเปลือกสมองส่วนการเห็น (Visual cortex) อันตั้งอยู่ (Located) ในสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe)

เมื่อได้รับการกระตุ้น ขั้วไฟฟ้าก็จะกระตุ้นเซลล์ประสาท (Neuron) ในเปลือกสมองส่วนการเห็น แล้วผลิตแสง 100 จุดเล็กๆ (Tiny spot) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นตัวอักษร S ได้ โดยที่ 26 จาก 100 ขั้วไฟฟ้า ได้รับการกระตุ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 100 ขั้วไฟฟ้าในเปลือกสมองส่วนการเห็น ได้ให้ข้อมูลมากกว่าแสง 36 จุดในกรณีของเคที่ (Katie) ผู้ป่วยทั้งสอง ก็ยังไม่สามารถมองเห็นเค้าโครง (Outline) ของวัตถุ หรือยังไม่สามารถเดินไปรอบๆ ได้โดยปราศจากไม้นำทาง (Cane)

จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาระบบเทียมของการมองเห็น (Artificial visual system) คือการให้ได้มาซึ่งข้อมูลการมองเห็น (Visual information) เพื่อว่า คนตาบอดจะสามารถอ่านตัวอักษร (Letter) และแยกแยะ (Distinguish) ระหว่างวัตถุ และหลีกเลี่ยงการชนวัตถุ ในขณะที่เดินไปรอบๆ ห้อง นักวิจัยพบความคืบหน้าในความพยายามบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ เจอร์รี่ (Jerry) ชายอายุ 62 ปีซึ่งตาบอดมาตั้งแต่อายุ 36 ปี ได้อาสาสมัคร (Volunteer) เป็น “หนูตะเภา” ในการทดลองฝังขั้วไฟฟ้า (Electrode) เข้าไปยังเปลือกสมองส่วนการเห็น เจอร์รี่ยังสวมแว่นตาซึ่งด้านหนึ่งติดกล้องขนาดจิ๋ว (Tiny camera) และอีกด้านหนึ่งติดเครื่องค้นหาพิสัยของคลื่นเหนือเสียง (Ultra-sonic range finder)

เครื่องค้นหาพิสัยดังกล่าว วิเคราะห์เสียงก้อง (Echo) จากคลื่นความถี่สูง (High-frequency sound) ที่เกินกว่าพิสัยปรกติของการได้ยิน โดยให้ข้อมูลตำแหน่งแห่งที่ (Location) ขนาด (Size) และระยะทาง (Distance) ของวัตถุ ส่วนกล้องจิ๋วให้ข้อมูลการมองเห็นที่เสมือนการมองผ่านอุโมงค์ (Tunnel) ที่เปิดอยู่กว้างประมาณ 5 เซ็นติเมตร และสูงประมาณ 20 เซ็นติเมตร

เครื่องมือทั้งสองข้างหูส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่เจอร์รี่สวมใส่อยู่ที่สะโพก แล้วคอมพิวเตอร์ก็จะวิเคราะห์และส่งต่อ (Relay) ซึ่งข้อมูลไฟฟ้า (electrical information) ไปยังแผ่นขั้วไฟฟ้า (Panel of electrodes) ที่ฝังเข้าไปในอาณาบริเวณการมองเห็นในกลีบสมองส่วนท้ายทอย (Occipital lobe) อันเป็นเส้น (Cord) สีขาวที่เชื่อมโยงไปยังหัวกะโหลก (Skull)

การใช้เครื่องมือนี้ ทำให้เจอร์รี่สามารถรับรู้ตัวอักษร 5 เซ็นติเมตร ที่อยู่ห่างไกลออกไป 1.5 เมตร และหลีกเลี่ยงวัตถุขนาดใหญ่ได้ เมื่อเขาเคลื่อนไหวไปรอบๆ ห้อง นี่เป็นตัวอย่างของการใช้กล้องถ่ายรูปและการฝังในสมอง เพื่อประโยชน์ของการมองเห็น แม้ว่าระบบเทียมของการมองเห็นของเจอร์รี่นั้นยังอยู่ในเบื้องต้น (Primitive) ของการทดลอง แต่ก็มีความหวังสูงที่จะเป็นไปได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Visual perceptio https://en.wikipedia.org/wiki/Visual_perception [2017, October 21].