จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 13 : ประเภทของความรัก (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

คนแรกที่ซูซาน (Susan) เลือกคบด้วยเป็นคนที่มีอุปนิสัยคล้ายเธอ แต่อยู่กันไม่ยืด ส่วนคนหลังที่เธอเลือกแต่งงานด้วย เป็นคนที่บุคลิกภาพตรงกันข้ามกับเธอ ประสบการณ์ของเธอนำไปสู่ประเด็นประเภทของความรัก (Love)

ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ ทำให้นักวิจัยคิดว่า ความรักเป็นสิ่งที่ลึกลับ (Mysterious) เกินกว่าที่จะศึกษาโดยวิธีวิทยาศาสตร์ (Scientific study) แต่ปัจจุบัน นักวิจัยเริ่มแยกแยะความรักเป็นหลายส่วนประกอบ โดยเริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่างความรักใคร่ด้วยอารมณ์เร่าร้อน (Passionate) กับความรักกันฉันมิตร (Companionate)

Passionate หมายถึงการที่ครุ่นคิดถึงคนที่เรารัก พร้อมด้วยความรู้สึกทางเพศ (Sexual feelings) ที่อบอุ่น และปฏิกิริยาอารมณ์ (Emotional reaction) ที่ทรงพลัง ส่วน Companionate หมายถึงการมีความรู้สึกที่ไว้วางใจ (Trust) และละมุนละไม (Tender) สำหรับบางคนที่มีชีวิตผูกพันอย่างใกล้ชิด (Closely bound) กับตนเอง

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนเราตกอยู่ในความรักอย่างไม่ลืมหูลืมอตา (Madly love) มักเป็นเรื่องของอารมณ์เร่าร้อน แต่เมื่อคู่ชายหญิงที่มีวุฒิภาวะแล้ว (Mature couple) พูดถึงความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิกัน ก็เป็นเรื่องของความผูกพันที่อาจเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศ ดังนั้น ความรักจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่คนส่วนมากคิด

หนึ่งในจำนวนทฤษฎีความรักที่คนรู้จักกันดี คือ “รักสามมิติ” (Triangular Theory of Love) [มิใช่รักสามเส้า] ของโรเบิร์ต สเตอร์นเบอร์ก (Robert Sternberg) ซึ่งเขากล่าวว่า ความรักดังกล่าวมี 3 มิติที่ประกอบเข้าด้วยกัน อันได้แก่ ความรักใคร่ (Passion) ความใกล้ชิด (Intimacy) และพันธสัญญา (Commitment)

ความรักใคร่ เป็นความรู้สึกที่ถูกปลุกเร้าทางร่างกาย (Physically aroused) และถูกเสนห์ดึงดูด (Attracted) ความใกล้ชิด เป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับคนที่ใกล้ชิด ซึ่งพัฒนาผ่านการสื่อสารและแบ่งปันกัน (Sharing) ส่วน พันธสัญญา เป็นการให้คำมั่น (Pledge) ที่จะทะนุถนอม (Nourish) ความรู้สึกที่รักกัน โดยจะจรรโลงความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกว่าอยู่ในความรัก คือมิติของ ความรักใคร่ ซึ่งทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอิทธิพล (Influence) และความลำเอียง (Bias) อย่างเหนียวแน่นต่อการตัดสินใจ (Judgment) สิ่งที่ทำให้คนเราต้องการแบ่งปัน และสนับสนุนทางอารมณ์ คือมิติของ ความใกล้ชิด และสิ่งที่ทำให้คนเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง (อาทิ การแต่งงาน และการให้คำมั่นว่า จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในยามยาก) ก็คือมิติของ พันธสัญญา

โรเบิร์ต สเตอร์นเบอร์ก เชื่อมั่นว่า ประเภทของความรักที่คนส่วนใหญ่แสวงหา (Strive) คือความรักที่สมบูรณ์ (Consummate) ซึ่งเป็นความสมดุลระหว่างมิติทั้งสาม กล่าวคือ ความรักใคร่ ความใกล้ และพันธสัญญา เขาใช้ทฤษฎีสามมิติของความรักตอบคำถามต่างๆ ที่มักได้รับเกี่ยวกับความรัก

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Love - http://en.wikipedia.org/wiki/Love [2015, July 11].