จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 127: ความเจ็บปวด (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-127

แม้การปวดศีรษะจะเป็นความเจ็บปวด แต่มันอาจมาแล้วก็ไป เมื่อเราหันเห (Shift) ความสนใจไปทำอย่างอื่น หรือถูกดูดซึม (Absorbed) ไปกับโครงการ (Project) ปรากฏการณ์ (Phenomenon) นี้ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการควบคุมประตูของความเจ็บปวด (Gate control theory of pain)

ทฤษฎีนี้กล่าวว่า สิ่งเร้าทางประสาทที่ไม่เจ็บปวด (Non-painful nerve impulse) อาทิ การหันเหความสนใจ แข่งขัน (Compete) กับสิ่งเร้าที่เจ็บปวด อาทิ อาการปวดศีรษะ ในความพยายามที่จะเข้าถึงสมอง การแข่งขันนี้ทำให้เกิดคอขวด (Bottleneck) หรือประตูประสาท (Neural gate) ซึ่งจะจำกัด (Limit) จำนวนสิ่งเร้าที่ส่งถูก (Transmitted) [ไปยังสมอง]

ดังนั้น การหันเหความสนใจ หรือการถูบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ (Injured) อาจเพิ่มการผ่าน (Passage) ของสิ่งเร้าที่ไม่เจ็บปวด และลดการผ่านของสิ่งเร้าที่เจ็บปวด ส่งผลให้ประสาทสัมผัส (Sensation) ของความเจ็บปวดซึมเซา (Dull) ไป ประตูประสาทมิใช่โครงสร้างทางกายภาพ แต่สะท้อนถึงการแข่งขันระหว่างสิ่งเร้าที่เจ็บปวดและไม่เจ็บปวดที่พยายามเข้าถึงสมอง

ทฤษฎีควบคุมประตูอธิบายว่า เราอาจไม่สังเกตความเจ็บปวดจากการปวดศีรษะ หรือการบาดเจ็บ ในขณะที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ (Thoroughly involved) ในกิจกรรมอื่น เนื่องจากสิ่งเร้าจากกิจกรรมนั้นปิดประตูประสาทและขัดขวาง (Block) การผ่านของสิ่งเร้าที่เจ็บปวด อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไปเกี่ยวข้องน้อยลง มีสิ่งเร้าที่ไม่เจ็บปวดน้อยลง ประตูประสาทก็จะเปิดออก และเราจะสังเกตเห็นความเจ็บปวดเมื่อสิ่งเร้าที่เจ็บปวดเข้าถึงสมอง

ตัวอย่างของทฤษฎีควบคุมประตูในชีวิตจริงก็คือ นักเล่นฟุตบอลอเมริกัน ที่ผู้เล่นต้องเผชิญกับกระดูกแตกหัก (Broken bone) แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวด ทฤษฎีนี้อธิบายว่า ความสนใจที่แรงกล้า (Intense) และความเกี่ยวข้องที่เร้าอารมณ์ ในเกมการแข่งขัน เป็นสาเหตุให้สมองส่งสิ่งเร้าที่ไม่เจ็บปวดไปปิดประตูทางประสาทที่อยู่ในเส้นประสาทไขสันหลัง (Spinal cord)

ประตูทางประสาทที่ปิดไป ขัดขวางมิให้สิ่งเร้าที่เจ็บปวดเข้าถึงสมอง และปกป้องความรู้สึกเจ็บปวด ในเวลาต่อมา เมื่อเกมการแข่งขันได้สิ้นสุดลง ภาวะ (State) ความสนใจและอารมณ์สงบลง ประตูทางประสาทก็จะเปิดออก สิ่งเร้าจากกระดูกที่แตกหัก ก็จะเข้าถึงสมอง จนผู้เล่นรู้สึกเจ็บปวด

ทฤษฎีนี้ยังอธิบายว่า การเข้าใจ (Perception) ถึงความรู้สึกเจ็บปวด ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับภาวะความเครียดของจิตใจ (Mental stress) หรือการบาดเจ็บของร่างกาย (Physical injury) แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลาย (Variety) ทางจิตวิทยา อารมณ์ และสังคม ซึ่งอาจลดหรือเพิ่มการเข้าใจ

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Pain - https://en.wikipedia.org/wiki/Pain http://www.psitek.net/pages/PsiTekHTSW15.html#gsc.tab=0 [2017, September 16].