จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 126: ความเจ็บปวด (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-126

เราทุกคนคงเคยประสบความเจ็บปวด (Pain) มาก่อน เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ความเจ็บปวดเป็นประสบการณ์ของประสาทสัมผัส (Sensory) และอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) ที่ไม่น่ารื่นรมย์ (Unpleasant) อันเนื่องมาจากเนื้อเยื่อ (Tissue) ถูกทำลาย ความคิด/ความเชื่อไปเอง หรือความเครียด (Stress) จากสภาพแวดล้อม อาทิ งานการและจราจรคับคั่ง

หน่วยรับความเจ็บปวด (Pain receptor) ในร่างกายส่งสิ่งเร้าประสาท (Nerve impulse) ไปยังอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องในสมองซึ่งสิ่งเร้านี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นประสาทสัมผัสความเจ็บปวด อันที่จริงความเจ็บปวดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด (Survival) ของคนเรา โดยเตือนให้เราหลีกเลี่ยงหรือหลบหนี (Escape) จากสถานการณ์หรือสิ่งกระตุ้น (Stimulus) ที่เป็นอันตราย และทำให้เรามีเวลาฟื้นฟู (Recover) จากการบาดเจ็บ (Injury)

นิยาม (Definition) ของความเจ็บปวด แตกต่างกับประสาทสัมผัสอื่นๆ อยู๋หลายประการด้วยกัน โดยที่ประการแรกความเจ็บปวดเป็นผลมาจากสิ่งกระตุ้นที่หลากหลาย อาทิ การบาดเจ็บทางร่างกาย เสียงที่ดังมาก แสงที่สว่างไสว (Bright light) และความเครียดทางจิต หรือทางสังคม ในขณะที่ประสาทสัมผัสสนองตอบต่อสิ่งกระตุ้นเพียงอย่างเดียว (Single)

ประการต่อไป ความรุนแรง (Intensity) ของความเจ็บปวด ขึ้นอยู่กับสิ่งกระตุ้นทางร่างกาย และปัจจัยทางจิตและสังคม อาทิ สภาวะ (State) ของสมาธิ (Attention) หรืออารมณ์ ประการสุดท้าย การรักษา (Treatment) ความเจ็บปวดขึ้นอยู่กับการบาดเจ็บทางร่างกาย และการลดความทุกข์ (Distress) ทางใจและอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของประสาทสัมผัสที่เจ็บปวด

ในหลายๆ กรณี ความเจ็บปวดดำเนินอยู่เพียงช่วงเวลาค่อนข้างสั้น (Short-acting) เรียกว่า “ฉับพลัน” หรือ “เฉียบพลัน” (Acute) ตัวอย่างเช่น หลังจากการบาดเจ็บ จะมีความเจ็บปวดทันที (Sharp) และเฉพาะที่ (Localized) ซึ่งในไม่ช้าจะถูกแทน (Replaced) ด้วยความเจ็บปวดที่ซึมเซา (Dull) ในวงกว้าง (Generalized) ในกรณีอื่นๆ ความเจ็บปวดอาจดำเนินอยู่ยาวนาน (Long-acting) เรียกว่า “เรื้อรัง” (Chronic)

ในอดีตที่ผ่านมา เรามักคิดว่าความเจ็บปวดเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อถูกทำลายเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนักวิจัยรับรู้ว่าความเจ็บปวดเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนซึ่งอาจรวมทั้งปัจจัยทางจิต อารมณ์ และสังคม อันอาจเป็นสาเหตุของการเพิ่มหรือการลดของประสาทสัมผัสความเจ็บปวด ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า ยาแก้ปวด (Pain-killer) อาจสูญเสียประสิทธิผล (Effectiveness) โดยเฉพาะในการรักษาความเจ็บปวดเรื้อรัง นักวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ความรู้สึก (Feeling) ของผู้ป่วย ที่ไม่สามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้มากนัก หรือปราศจากการสนับสนุนทางสังคม (Social support) ก็เป็นสาเหตุของความเจ็บปวดได้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Pain - https://en.wikipedia.org/wiki/Pain http://www.psitek.net/pages/PsiTekHTSW15.html#gsc.tab=0 [2017, September 9].